Google Analytics

รู้จัก Google Analytics เครื่องมือวัดประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์

เราเคยสงสัยกันไหมครับว่า เจ้าของเว็บไซต์เขาจะสามารถรู้จำนวนคนเข้ามาได้อย่างไร เมื่อเข้ามาแล้วไปดูหน้าไหนกันบ้าง เข้ามาด้วยคีย์เวิร์ดอะไร หากคุณกำลังสงสัยอยู่ บทความนี้มีคำตอบเกี่ยวกับ Google Analytics เครื่องมือช่วยวัดประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ครับ เรามาดูกันว่ามันมีความสามารถอย่างไรกัน

Google Analytics คืออะไร

Google Analytics คือเครื่องมือวัดประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ที่ถูกสร้างมาโดย Google เจ้าของ Search Engine ชื่อดัง โดยมีความสามารถในการตรวจจับการเข้าถึงเว็บไซต์ของผู้ใช้งานที่หลากหลาย โดยสามารถวิเคราะห์ถึงการใช้งานของผู้ใช้งาน ทั้งในส่วนของประชากร เพศ อายุ ความชอบ ความสนใจของผู้ใช้งาน สามารถดูพฤติกรรมได้ว่ามีการเข้าเว็บไซต์ของเราถี่ขนาดไหน ระยะเวลาการใช้งานในเว็บไซต์ และหน้าเว็บไซต์ที่สนใจทั้งแบบเรียลไทม์และข้อมูลย้อนหลัง นอกจากนั้นแล้วยังสามารถดูในส่วนของคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานใช้เพื่อเข้ามาหน้าเว็บไซต์ และอื่นๆ อีกมากมายครับ

อ่านบทความ – วิธีการเชื่อมต่อกับ Google Analytics

เราจะเริ่มมาดูส่วนประกอบของ Google Analytics กันนะครับ ว่าประกอบไปด้วยส่วนใดบ้างหลักๆ

Google Analytics Home

Google Analytics Home
Google Analytics Home

เมื่อเราเข้ามายังหน้า Google Analytics เราจะเห็นหน้าสรุปผลการทำงานของเว็บไซต์เราครับ ได้แก่

  1. ส่วนสรุปถึงจำนวนคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของเราว่ามีจำนวนทั้งสิ้นกี่คน จำนวนหน้าเข้า (Session), อัตราการตีกลับ (Conversion Rate) และรายได้ (Revenue)
  2. จำนวนผู้ใช้งานในขณะนี้ (Active User right now)
  3. กราฟแนวโน้มของผู้ใช้งานเป็นอย่างไร (How are you active users trending over time) แบ่งเป็นรายวัน รายอาทิตย์ และ รายเดือนครับ
  4. การเก็บรักษาผู้ใช้งานเว็บไซต์ (User Retention) ว่า หลังจากที่ผู้ใช้งานได้ใช้งานแล้วจะกลับมาใช้งานเว็บไซต์เราอีกเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ในอาทิตย์ถัดไป
  5. ตารางแสดงข้อมูลว่าผู้ใช้งานของเรามักจะเข้าใช้งานช่วงเวลาใด วันอะไร (When do your users visit?)
  6. ผู้ใช้งานเว็บไซต์มาจากที่ไหน (Where are your users?)
  7. เครื่องมือที่ผู้ใช้งานใช้เข้าเว็บไซต์เราคือเครื่องมืออะไร (What are your top devices?)
  8. จำนวนการเข้าชมในแต่ละหน้า (What pages do your users visit?)
  9. ตารางการเข้าถึงหน้าเป้าหมาย (How are you performing against goals?)
  10. รายการสินค้าที่ขายได้สูงสุด (What are your top selling products?)
  11. ตารางแสดงความสามารถของแคมเปญที่เราทำการโฆษณาที่ Google Ads (How are you Google Ads campaigns performing?)

เนื่องจากหน้านี้เป็นบทสรุปของข้อมูลทั้งหมด ดังนั้นหากเราต้องการที่จะดูรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถทำการกดลิงก์ด้านล่างของแต่ละตารางหรือกราฟเพื่อเข้าดูครับ

รู้จัก Google Analytics เครื่องมือวัดประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ 1
รับทำเว็บไซต์

การเข้าชม ณ ขณะนั้น (Realtime)

สำหรับเมนู Realtime นี้ จะแสดงสถิติการใช้งาน ณ ขณะนั้น หากเว็บไซต์ของเรามีขนาดเล็กและมีผู้ชมน้อย ข้อมูลในส่วนนี้จะไม่ค่อยมีการแสดงผลครับ แต่หากเป็นเว็บที่มีขนาดใหญ่หรือเว็บที่มีการทำโปรโมชั่น เราจะเห็นพฤติกรรมของผู้เข้าชม ณ ขณะนั้นว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ทำให้เราสามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีครับ

รายละเอียดของข้อมูลที่เราจะได้นั้น เราจะได้ในส่วนของตำแหน่งผู้ใช้งานว่ามาจากที่ไหน (Locations) ประเทศอะไร มาจากวิธีการใด เช่น ลิงก์ ค้นหาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น มาจากโฆษณา หรือจากโซเชียล หน้าที่มีผู้ใช้งานเข้าใช้งานในปัจจุบัน (Top Active Pages) คีย์เวิร์ดที่เข้ามาใช้งาน (Keywords) เหตุการณ์ที่ผู้ใช้งานมีส่วนร่วม เช่น กดคลิ๊กปุ่มสั่งซื้อ การลงทะเบียนสมัครสมาชิกเป็นต้น (Events and Conversion)

ผู้ชม (Audience)

Audience
Audience

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของข้อมูลผู้เข้าชมครับ โดยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อบอกว่าผู้เข้าชมเป็นใคร ช่วงอายุเท่าไร เพศใด มีความสนใจอะไร อยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอะไร ใช้เทคโนโลยีเบราเซอร์ เน็ทเวิร์คใดเมื่อเข้ามาดูหน้าเว็บไซต์ของเรา เข้ามาด้วยคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือ เราสามารถทำการสร้างตัวแปรที่เราทำขึ้นเองได้ (Custom Variables) ทำการเปรียบเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมที่เราอยู่ได้ด้วย (Benchmarking) และสามารถดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานเป็นลักษณะ Users Flow ได้อีกด้วยครับ

การเข้าถึง (Acquisition)

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการสรุปว่า ผู้ใช้งานเข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้อย่างไร ดังต่อไปนี้

  1. การเข้าสู่เว็บไซต์ของเราโดยตรง
  2. ลิงก์ที่มีตามเว็บไซต์อื่นๆ
  3. การโฆษณาผ่าน Google Ads
  4. Search Console ที่ระบุถึงการค้นหาผ่านคีย์เวิร์ดใน Search Engine ต่างๆ เช่น Google, Yahoo, Bings และอื่นๆ
  5. โซเชียลต่างๆ เช่น Facebook, YouTube, Instagram, Twitter

ข้อมูลในแต่ละส่วนจะถูกเก็บโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เช่น การโฆษณาผ่าน Google Ads มีการระบุถึงคีย์เวิร์ดที่ค้นหาเจอโฆษณา การแข่งขันราคาโฆษณา แสดงข้อมูล URL, แคมเปญที่เป็นวิดีโอ หรือ ข้อมูลใน Search Console มีการแสดงข้อมูลหน้าเว็บที่เข้าถึง คีย์เวิร์ด อุปกรณ์ที่ใช้ เป็นต้น

ข้อมูลที่ได้เราสามารถนำไปวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ เช่น การยิงโฆษณาตรงปุ่มเป้าหมายหรือไม่ การทำ SEO มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อให้เราสามารถพัฒนาการทำงานของเราได้ต่อไป

พฤติกรรมผู้ใช้งาน (Behavior)

สำหรับส่วนพฤติกรรมผู้ใช้งานนั้น จะเป็นการสรุปว่าผู้ใช้งานเมื่อเข้ามายังเว็บไซต์ของเราแล้ว ทำกิจกรรม (Events) nอะไรไปบ้าง เช่น ทำการดูหน้าไหนเป็นหลัก (Site Content) ทำการค้นหาสิ่งใดในเว็บไซต์ (Site Search) หรือ ทำการกดปุ่มสั่งซื้อหรือไม่ ข้อมูลในส่วนนี้ยังรวมถึงการตรวจสอบความเร็วของหน้าเว็บ (Site Speed) แต่ละหน้าของเรา และการทดสอบประสิทธิภาพหน้าของเว็บไซต์ด้วยการเปรียบเทียบ(Experiments) ความแตกต่างของหน้าเว็บอีกด้วยครับ

การแปลงผู้ใช้งานมาเป็นลูกค้า (Conversions)

Ecommerce
Ecommerce

ส่วนสุดท้ายนี้เป็นส่วนที่ดูข้อมูลว่าผู้ใช้งานเว็บไซต์ของเรานั้น สามารถเปลี่ยนมาเป็นลูกค้า ได้จำนวนเท่าไร โดยแบ่งส่วนเป็น ส่วนเป้าหมาย (Goals) ที่จะบอกถึงลำดับขั้นตอนของผู้ใช้งานตั้งแต่เข้าเว็บไซต์จนกระทั่งทำการสั่งซื้อ รีวิว และสรุปผลการเข้าลิงก์เป้าหมายว่ามีคนเข้าจำนวนเท่าไร (Goal URLs) ในส่วนอีคอมเมิร์ซหรือร้านค้าออนไลน์ (Ecommerce) นั้นจะทำการสรุปถึงพฤติกรรมผู้ซื้อว่า มีพฤติกรรมอย่างไรตั้งแต่พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า การสั่งซื้อสินค้า วิเคราะห์ประสิทธิภาพของสินค้า การขายและรายการสินค้า รวมไปถึงการตลาดที่ทำกับสินค้านั้นๆ

ส่วนหัวข้อช่องทางที่หลากหลาย (Multi-Channel Funnels) เป็นการวัดผลงาน Conversion ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้ทำการตัดสินใจในทันที เช่น เมื่อเข้าสู่หน้าเว็บผ่านโฆษณา Google Ads แล้ว ยังไม่ตัดสินใจ แต่เข้ามาค้นหาผ่าน Google หลักอีก 2 วันถัดมาและทำการสั่งซื้อ ลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็น Conversion ประเภท Assisted Conversions ครับ

มาถึงตรงนี้แล้ว เราคงเริ่มรู้จักในส่วนของ Google Analytics กันเพิ่มขึ้นแล้วนะครับ ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในส่วนของรายละเอียดลึกๆ อาจจะนำมาเขียนเพิ่มเติมในอนาคตนี้ วันนี้เอาเป็นสรุปเท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ ไม่งั้นมันจะยาว สวัสดีครับ !

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce
avatar

นายปิ๊ก


ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Themevilles.com เป็นอาจารย์สอน WordPress และ WooCommerce ในเว็บคอร์สออนไลน์ Skilllane และรับทำเว็บไซต์ ทำการตลาดออนไลน์ เช่น SEO, Facebook และ LINE

สอบถามผ่านทาง Line QR Code qr-code.png