6 ขั้นตอนการทำ Xampp ให้เป็น Web Server ที่ใช้งานจริง

บทความที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับโปรแกรม Xampp ไปแล้วว่าคืออะไร และการติดตั้งใช้งานทำอย่างไร ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงการทำ Xampp ในกรณีที่เราต้องการให้ Xampp ของเราเป็น Web server ที่สามารถใช้งานจริงและสามารถเข้าดูเว็บไซต์แบบออนไลน์ได้จริงๆ ว่ามีวิธีและขั้นตอนการทำอย่างไร

เตรียมความพร้อม

  1. ติดตั้ง Windows Server และโปรแกรม Xampp ให้เรียบร้อย
  2. มีเว็บไซต์ที่ทำเสร็จแล้วและได้ย้ายไฟล์ไปใส่ไว้ในโปรแกรม Xampp ในเครื่อง Windows Server ที่เราเตรียมไว้
  3. ทำการชี้โดเมนเนมของเรามายังไอพีของเครื่อง Windows Server ให้เรียบร้อย

เริ่มทำ Xampp ให้เป็น Web Server gn

1. ตรวจสอบ port 80

เราจะต้องทำการตรวจสอบพอร์ทที่เปิดใช้งานในโปรแกรม Xampp ว่าเราได้ทำการเปิดพอร์ทไหน โดยทั่วไปแล้วพอร์ทที่เปิด คือ port 80 ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้จากไฟล์ httpd.conf ในโฟลเดอร์ C:\xampp\apache\conf ในส่วนของบรรทัด Listen 80 ซึ่งในที่นี้ก็คือพอร์ท 80 ครับ

2. แก้ไขไฟล์ httpd-vhosts.conf

ให้แก้ไฟล์ httpd-vhosts.conf โดยไปที่โฟลเดอร์ C:\xampp\apache\conf\extra\httpd-vhosts.conf โดยแก้และเพิ่มรายละเอียดดังต่อไปนี้ในบรรทัดล่างสุด

<VirtualHost *:80>
    DocumentRoot "C:/xampp/htdocs/dummy-host2.example.com"
    ServerName dummy-host2.example.com
</VirtualHost>

ให้เราทำการแก้ไขส่วน C:/xampp/htdocs/dummy-host2.example.com ให้เป็นชื่อไฟล์ที่เป็นชื่อโปรเจคของตัวเอง เช่น ถ้าเรามีโปรเจคชื่อ project1 ก็ให้แก้เป็น C:/xampp/htdocs/charlies-project เป็นต้น

ให้เราทำการแก้ไข dummy-host2.example.com เป็นชื่อเว็บไซต์ของเรา เช่น เปลี่ยนเป็น charlies-project.com เป็นต้น จะได้โค้ดตามด้านล่าง

<VirtualHost *:80>
    DocumentRoot "C:/xampp/htdocs/charlies-project"
    ServerName charlies-project.com
</VirtualHost>

3. แก้ไขไฟล์ hosts

ขั้นตอนถัดไปให้ทำการแก้ไฟล์ hosts ที่อยู่ในโฟลเดอร์ C:\Windows\System32\drivers\etc โดยให้ทำการเพิ่มบรรทัดใหม่ ได้แก่ 127.0.0.1  localhost charlies-project.com

4. แก้ไขชื่อโดเมนเนมในฐานข้อมูล

สำหรับคนที่ใช้ WordPress ให้เข้าไปในโปรแกรม phpMyAdmin หา table ที่ชื่อว่า wp_options ให้ทำการเปลี่ยนชื่อข้อความใน option_value ในส่วนของ option_name ที่ชื่อ siteurl และ home ให้เปลี่ยนเป็นชื่อโดเมนของเราในที่นี้ คือ http://charlies-project.com

แก้ไข wp_options ใน phpmyadmin

5. ทำการ Restart Xampp ใหม่

เมื่อดำเนินการครบแล้ว ให้เราทำการ Stop และ Start โมดูล Apache และ MySQL ของโปรแกรม Xampp ใหม่อีกครั้ง

6. ทำการทดสอบการเข้าหน้าเว็บไซต์

ทำการทดสอบการเข้าหน้าเว็บไซต์ของเราผ่านเบราเซอร์ทั้งภายในและภายนอกองค์กรครับ

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เราจะสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้แล้วนะครับ แต่หากยังไม่สามารถใช้งานได้ต้องตรวจสอบ Log ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร ในบางครั้งอาจเกิดจาก Firewall ที่มีการปิดกั้นพอร์ท 80 ไม่ให้เราสามารถออกอินเตอร์เนทได้ก็ให้เราไปเปิดพอร์ทนั้นๆ นะครับ ทั้งในระบบเครือข่าย เช่น Fortinet และระบบเซิฟเวอร์ เช่น โปรแกรม Windows Defender Firewall ครับ

สรุปส่งท้าย

หวังว่าเพื่อนๆ คงทำกันได้นะครับ สำหรับบทความถัดไปจะเป็นเรื่องอะไรก็คอยติดตามกันนะครับ สวัสดีครับ..