3 วิธีการติดตั้ง WordPress บน XAMPP, Plesk และ DirectAdmin

บทความก่อนหน้านี้เราได้แนะนำถึง WordPress คืออะไรกันไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาแนะนำถึงวิธีการติดตั้ง WordPress ผ่านระบบต่างๆ เช่น Xampp ที่เป็น localhost หรือเซิฟเวอร์จำลอง และ Plesk กับ DirectAdmin ที่เป็นโปรแกรมการจัดการเว็บโฮสติ้งกันนะครับ

ก่อนที่เราจะไปดูถึงวิธีกาติดตั้ง เราจะมาขยายความของคำข้างต้นกันก่อนนะครับ

  • WordPress คือ คือโปรแกรมที่ใช้สร้างเว็บไซต์ มีระบบจัดการเนื้อหา (Content Management System หรือ CMS) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างและจัดการเว็บไซต์ของตนเองได้ (อ่านต่อ WordPress คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง)
  • XAMPP คือ เครื่องเซิฟเวอร์จำลองที่ทำหน้าที่เป็น Web Server สำหรับใช้งานทำเว็บไซต์ ส่วนใหญ่จะนำมาติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเพื่อทดสอบการใช้งานเว็บไซต์ สามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ได้เอง  (อ่านต่อ Xampp คืออะไร)
  • Plesk คือ โปรแกรมการจัดการเว็บโฮสติ้งที่มีประสิทธิภาพสูง พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเว็บไซต์ อีเมล ฐานข้อมูลและแอปพลิเคชั่นต่างๆ บนเซิฟเวอร์
  • DirectAdmin คือ โปรแกรมการจัดการเว็บโฮสติ้งที่พัฒนามาบริหารจัดการเว็บไซต์เช่นเดียวกัน  แต่มีหน้าตาการใช้งานที่ดูสบายตากว่า

แนวคิดของวิธีการติดตั้ง WordPress

แนวคิดของการติดตั้งโปรแกรม WordPress หรือโปรแกรมต่างๆ ทั้งในส่วนของ Xampp, Plesk หรือ DirectAdmin  มีหัวใจหรือหลักการสำคัญคือ เราจะต้องนำไฟล์ที่ได้จาก WordPress.org มาทำการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่สร้างจากโปรแกรม Xampp ผ่านโปรแกรม phpMyAdmin โดยมีไฟล์ที่ชื่อ wp-config.php เป็นตัวเชื่อมต่อ เราถึงจะสามารถทำการเริ่มต้นใช้งานเว็บไซต์ได้

แนวคิดนี้ให้ผู้เริ่มต้นทราบไว้ก่อนแต่ในรูปแบบการใช้งานจริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องทำการแก้ไขโค้ด wp-config.php ให้ยุ่งยาก เพราะระบบของ WordPress นั้นมีกระบวนการการติดตั้งให้เรียบร้อยอยู่แล้ว เพียงแค่เราดำเนินการไปตามระบบของโปรแกรมที่ให้มาก็จะสามารถติดตั้งได้โดยง่ายครับ

การติดตั้ง WordPress บน Xampp

การติดตั้ง WordPress บน Xampp ที่เป็น Localhost นั้นจะมีความยุ่งยากกว่าการติดตั้งบนเซิฟเวอร์จริง เนื่องจากเราจำเป็นที่จะต้องทำการติดตั้ง Xampp บนเครื่องของเราก่อน แล้วทำการดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บไซต์ WordPress เพื่อนำมาติดตั้งภายในโปรแกรม Xampp อีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนการติดตั้ง WordPress บน Xampp ให้ดำเนินการดังนี้

1. ดาวน์โหลดและติดตั้ง XAMPP

  1. ดาวน์โหลด Xampp แล้วทำการติดตั้งโปรแกรม หากใครยังไม่ได้ทำการติดตั้ง Xampp ก็ให้ไปดาวน์โหลด Xampp ที่ Apache Friend และทำการติดตั้งโปรแกรม Xampp ตามบทความนี้นะครับ
  2. ทำการเปิดโปรแกรม Xampp Control Panel และเปิดใช้งานบริการ Apache และ MySQL

2. ทำการสร้างฐานข้อมูล WordPress

  1. พิมพ์ localhost ที่ Chrome แล้วไปที่เมนู phpMyAdmin
  2. ไปที่ New ด้านแถบซ้ายมือเพื่อทำการสร้างฐานข้อมูล (ดูรูปด้านล่าง)
  3. ทำการใส่ชื่อฐานข้อมูล (Database Name) เช่น project_db แล้วกดปุ่ม Create ที่ส่วน Create Database

3. ทำการดาวน์โหลดและติดตั้ง WordPress

  1. ทำการดาวน์โหลดโปรแกรม WordPress จากเว็บ WordPress.org
  2. แตกไฟล์ที่ดาวน์โหลดและย้ายไปยังโฟลเดอร์ htdocs ของ XAMPP ที่อยู่ในไดร์ฟ C: (เช่น C:\xampp\htdocs\wordpress) ข้อควรระวัง จะต้องให้ภายในโฟลเดอร์ wordpress ประกอบด้วยโฟลเดอร์ wp-admin, wp-includes และ wp-content ทันที เช่น C:\xampp\htdocs\wordpress\wp-admin เพราะในบางครั้งเวลาแตกไฟล์อาจจะทำให้เกิดโฟลเดอร์ซ้อนโฟลเดอร์ เช่น C:\xampp\htdocs\wordpress\wordpress\wp-admin ซึ่งไม่ถูกต้อง
  3. เข้าไปที่ http://localhost/wordpress โดยพิมพ์ที่โปรแกรม Chrome และทำตามขั้นตอนการติดตั้ง
  4. ดำเนินการติดตั้ง โดยเลือกภาษาเป็นภาษาไทย แล้วกด Continue และเริ่มต้นใช้งาน
  5. ให้ทำการใส่ข้อมูลชื่อฐานข้อมูล ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน (ดูรูปด้านล่าง) ดังนี้
    • ชื่อฐานข้อมูล คือ project_db
    • ขื่อผู้ใช้งาน คือ root
    • รหัสผ่าน ไม่ต้องใส่ให้ทำการลบค่าที่มีอยู่ออก
    • ทำการกดส่งและทำการกดเริ่มการติดตั้ง
  6. ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ (ดูรูปด้านล่าง)
    • ชื่อเว็บ ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์ของเราในที่นี้ชื่อ Project
    • ชื่อผู้ใช้ เช่น admin
    • รหัสผ่าน เช่น password
    • ยืนยันรหัสผ่าน ในกรณีที่รหัสผ่านไม่ปลอดภัย
    • อีเมลของคุณ ให้ใส่อีเมลของเรา
    • ทำการกดติดตั้งเวิร์ดเพรส
    • หมายเหตุ ช้อมูลในส่วนนี้สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านควรที่จะมีความซับซ้อนเพื่อป้องกันการถูกโจมตี

4. เสร็จสิ้นการติดตั้ง ระบบทำการติดตั้งเรียบร้อย เราสามารถเข้าดูหน้าเว็บไซต์ที่ http://localhost/wordpress และเข้าสู่ระบบหลังบ้านได้ที่ http://localhost/wordpress/wp-admin โดยใช้ชื่อผู้ใช้ admin และ password ตามที่เราระบุไว้ด้านบน

การติดตั้ง WordPress บน Plesk

การติดตั้ง WordPress บน Plesk จะมีความง่ายกว่าการติดตั้ง WordPress ใน Localhost เพราะโปรแกรม WordPress จะถูกติดตั้งมาในระบบ Plesk อยู่แล้ว ทำให้เราสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระบบ Plesk เป็นระบบที่อยู่บนโฮสติ้ง ดังนั้นก่อนที่เราจะทำการติดตั้งโปรแกรมเราจะต้องทำการเช่าโดเมนและพื้นที่จากบริษัทโฮสติ้งและทำการเลือกระบบควบคุม (Control Panel) เป็นแบบ Plesk เสียก่อน หลังจากนั้นให้เราเข้าสู่ระบบ Plesk ด้วยชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านที่ทางบริษัทโฮสติ้งให้มาครับ

ขั้นตอนการติดตั้ง WordPress บน Plesk ให้ดำเนินการดังนี้

1. เข้าสู่ระบบ Plesk

  1. ล็อกอินเข้าสู่ระบบ Plesk Control Panel ด้วยชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านที่ได้จากบริษัทโฮสติ้ง

2. ติดตั้ง WordPress ผ่าน Plesk

  1. ไปที่เมนู WordPress จะแสดงหน้า WordPress Toolkit ให้ทำการกดปุ่ม Install ระบบจะแสดงแถบด้านข้างที่ชื่อ Install WordPress ขึ้นมา
  2. ทำการกรอกข้อมูลได้แก่
    • ส่วน General
      • Installation path ให้ใส่ชื่อโดเมนของเรา เช่น https://wp-project.com หากมีข้อความในส่วน Installation Directiory ให้ทำการลบคำนั้นออก
      • Website title ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์ของเรา ในที่นี้ใส่เป็น WP Project
      • Website language ให้เลือกภาษาที่เราต้องการในที่นี้ใช้เป็นภาษาไทย
    • ส่วน WordPress Administrator ส่วนนี้ระบบจะตั้งค่าเริ่มต้นมาให้ เราสามารถแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของเราได้ครับ
      • Username ให้ใส่ชื่อผู้ใช้งาน
      • Password ให้ใส่รหัสผ่านของเรา
      • Email ให้ใส่อีเมลของเรา
    • กดปุ่ม Install

3. เสร็จสิ้นการติดตั้ง หลังจากกรอกข้อมูลทั้งหมดและทำตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้น คุณสามารถเข้าสู่ระบบ WordPress ได้ ผ่านโดเมน และหากต้องการจะเข้าหน้าหลังบ้านก็ให้ไปที่ https://wp-project.com/wp-admin/

การติดตั้ง WordPress บน DirectAdmin

การติดตั้ง WordPress บน DirectAdmin จะมีลักษณะคล้ายกับแบบ Plesk เพราะเป็นการติดตั้งบนโฮสติ้งเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีการเช่าโดเมนและโฮสติ้งจากบริษัทโฮสติ้งเรียบร้อยแล้วถึงจะทำการติดตั้งโปรแกรม WordPress ได้

ขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรม WordPress บน DirectAdmin ให้ดำเนินการดังนี้

1. เข้าสู่ระบบ DirectAdmin

  1. ล็อกอินเข้าสู่ระบบ DirectAdmin Control Panel โดยใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านที่ได้รับมาจากบริษัทโฮสติ้ง

2. ติดตั้ง WordPress ผ่าน DirectAdmin

  1. ไปที่เมนู WordPress ที่อยู่ภายใต้ Softaculous App Installer
  2. ระบบจะเข้ามาหน้าแอปพลชั่น WordPress ให้ทำการกดปุ่ม Install Now เพื่อดำเนินการติดตั้ง
  3. ทำการใส่ข้อมูลที่จำเป็น
    • ส่วน Software Setup
      • ในส่วนของ Choose Installation URL ให้ใส่โดเมนของเรา ยกเว้นในส่วนของ In directory ให้เว้นว่างไว้ เช่น https://wp-project.com/
    • ส่วน Site Settings
      • Site Name ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์ของเรา เช่น WP Project
      • Site Description ให้ใส่คำอธิบายของเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์เพื่อการศึกษา
    • ส่วน Admin Account
      • Admin Username ให้ใส่ชื่อผู้ใช้งานสำหรับเข้าสู่ระบบ
      • Admin Password ให้ใส่รหัสผ่านของผู้ใช้งาน
      • Admin Email ให้ใส่อีเมลของผู้ใช้งาน
    • Choose Language
      • Select Language ให้เลือกภาษาไทย
    • กดปุ่ม Install

3. เสร็จสิ้นการติดตั้ง

  • หลังจากกรอกข้อมูลทั้งหมดและทำตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้น คุณสามารถเข้าสู่ระบบ WordPress ได้ ผ่านโดเมนเนมของเรา และหากต้องการจะเข้าหน้าหลังบ้านก็ให้ไปที่ http://wp-project.com/wp-admin/
สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce

ติดตั้ง WordPress ไม่ได้

ในกรณีที่เราติดตั้งไม่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิด Error ขึ้นบอกว่า Error establishing a database connection แสดงว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชื่อฐานข้อมูล ผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน ไม่ตรงกันกับที่เราสร้างไว้ใน phpMyAdmin วิธีแก้ก็คือ เราจะต้องไปแก้ที่ไฟล์ wp-config.php ด้วย Editor ของเรา เช่น Visual Studio Code แล้วให้แก้ตรง DB_Name, DB_Username และ DB_Password ให้ตรงกับที่เราสร้างไว้ใน phpMyAdmin แล้วอัพโหลดขึ้นไปใหม่ หากไฟล์ wp-config.php ไม่มีให้เราทำการก็อบปี้ไฟล์ wp-config-sample.php มาใช้ แล้วเปลี่ยนชื่อไฟล์เป็น wp-config.php ครับ

// ** MySQL settings - You can get this info from your web host ** //
/** The name of the database for WordPress */
define( 'DB_NAME', 'project_db' );

/** MySQL database username */
define( 'DB_USER', 'root' );

/** MySQL database password */
define( 'DB_PASSWORD', '' );

สรุปส่งท้าย

การติดตั้ง WordPress ทั้งสามวิธีนี้สามารถช่วยให้คุณสามารถเริ่มต้นใช้งาน WordPress ได้ทั้งในสภาพแวดล้อมการพัฒนาแบบโลคอลและเซิร์ฟเวอร์จริงได้อย่างง่ายดาย บทความหน้าเราจะมาพูดถึงวิธีการใช้งาน WordPress กันนะครับ สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้