WordPress คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง
8 | | | ความรู้, WordPress, ระดับพื้นฐาน WordPress
สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจทำเว็บไซต์อาจจะได้ยินเกี่ยวกับคนที่ทำเว็บไซต์ว่า เราสามารถทำเว็บไซต์ได้ด้วยโปรแกรม WordPress ทำง่าย ราคาไม่แพง กันอยู่บ้าง และอาจจะสงสัยว่า โปรแกรม WordPress คืออะไร ทำไมถึงมีคนแนะนำกันให้ใช้โปรแกรมนี้กันมากมาย วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จัก WordPress กันว่า มันคืออะไรและทำอะไรได้บ้าง ไปดูกันเลย
Table of Contents
WordPress คืออะไร
WordPress คือโปรแกรมที่ใช้สร้างเว็บไซต์ มีระบบจัดการเนื้อหา (Content Management System หรือ CMS) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างและจัดการเว็บไซต์ของตนเองได้ เป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส (Open Source) ใช้งานฟรี ใช้งานง่าย รองรับการใช้งานเว็บไซต์ในทุกรูปแบบและได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ความสำคัญและประวัติย่อ
WordPress ถูกพัฒนาโดย Matt Mullenweg และ Mike Little โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 เริ่มแรกมีจุดมุ่งหมายในการสร้างเพื่อเป็นเว็บไซต์บล็อกส่วนบุคคล WordPress ถูกพัฒนามาจากภาษา PHP และฐานข้อมูลแบบ MySQL โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาภายใต้ไลเซนส์ที่เรียกว่า GPLv2.
ประเภทของเว็บไซต์ที่ทำโดย WordPress
เริ่มแรกโปรแกรม WordPress มีเป้าหมายทำเว็บไซต์ประเภทบล็อกส่วนตัว (Webblog software) ให้กับผู้ใช้งาน (Weblog software) แต่ในปัจจุบันเราสามารถนำโปรแกรม WordPress มาใช้งานในหลายรูปแบบดังต่อไปนี้
- เว็บไซต์บล็อกส่วนตัว เป็นเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับเขียนไดอารี่ ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ บทความส่วนตัว
- เว็บไซต์ข่าว (News) หรือนิตยสาร (Magazine) เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทางด้านข่าวสารต่างๆ เช่น ข่าวไอที ข่าวหุ้น ข่าวทั่วไป
- เว็บไซต์ไดเร็กเทอรีและรายการ (Directory and Listings) เป็นเว็บไซต์ที่แสดงข้อมูลของบริษัทหลายๆ บริษัท ให้ข้อมูลสำคัญเพื่อการค้นหา ยกตัวอย่างเช่น สมุดหน้าเหลือง เป็นต้น
- เว็บไซต์จัดหมวดหมู่ (Classified) เป็นเว็บไซต์ที่แสดงรายการต่างๆ โดยผู้ใช้งานสามารถเพิ่มสินค้าเพื่อขายได้
- เว็บไซต์การศึกษา เป็นเว็บไซต์ในรูปแบบอีบุ๊คหรือเว็บไซต์สอนออนไลน์แบบสมัครสมาชิก
- เว็บไซต์ความบันเทิง (Entertainment) เป็นเว็บไซต์ที่แสดงวิดีโอเพื่อความบันเทิง
- เว็บไซต์บริษัท เป็นเว็บไซต์สำหรับการแสดงข้อมูลบริษัท บริการของบริษัทและช่องทางการติดต่อ
- เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ เป็นเว็บไซต์ที่แสดงสินค้าออนไลน์ต่างๆ เช่น เว็บขายเสื้อผ้า เว็บขายหนังสือ เว็บขายอุปกรณ์ต่างๆ
- เว็บไซต์แสดงภาพแกลลอรี่ เช่น เว็บไซต์งานแต่งงาน เว็บไซต์
- เว็บไซต์หน้าเดียว เป็นเว็บไซต์ที่มีเป้าหมายในการโฆษณา
ทำไมต้องใช้ WordPress
WordPress ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ทุกคนโดยความเชื่อที่ว่า โปรแกรมที่ดีจะต้องติดตั้งง่าย สามารถเข้าถึงได้ทุกคน มีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัย และง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งโปรแกรม WordPress นั้นใช้งานง่าย และมีคุณสมบัติฟีเจอร์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้โปรแกรมมีการใช้งานเยอะและประสบความสำเร็ จ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
- สามารถใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และยังสามารถแก้ไขโค้ดได้ด้วยตามสัญญาอนุญาตใช้งานแบบ GPLv2
- สามารถติดตั้งได้ง่าย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางด้านการเขียนโค้ด เรียนรู้ได้เร็ว
- ใช้งานง่าย มีระบบสนับสนุนรองรับการทำงานเว็บไซต์ที่เข้าใจง่าย ทำให้สามารถสร้างและจัดการเนื้อหาได้โดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิค สามารถทำการเพิ่ม แก้ไข ลบ ได้เอง ช่วยให้เราสามารถสร้างเว็บไซต์ได้รวดเร็ว
- ปรับแต่งได้หลากหลาย มีธีมและปลั๊กอินมากมายที่ช่วยเพิ่มฟังก์ชันและการออกแบบให้กับเว็บไซต์
- มีความยืดหยุ่น รองรับการสร้างเว็บไซต์หลากหลายประเภท เช่น บล็อก, เว็บไซต์ธุรกิจ, ร้านค้าออนไลน์ และอื่นๆ
- มีความสวยงาม เว็บไซต์ที่ทำจากโปรแกรม WordPress มีความสวยงาม ทันสมัยต่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน
- รองรับการใช้งานแท็บเล็บและมือถือ (Responsive website) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถดูเว็บไซต์ผ่านได้ทุกแพล็ตฟอร์ม
- รองรับการใช้งานหลายภาษา WordPress ยังรองรับภาษาไทยและยังสามารถทำเว็บไซต์หลายๆ ภาษาพร้อมกันได้
- มีกลุ่มผู้ใช้งานโปรแกรม WordPress เป็นจำนวนมาก ทำให้เราสามารถสอบถาม ปรึกษา เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งานได้
- มีการอัพเดทระบบตลอดเวลา มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และความปลอดภัยสูง
- SEO ที่ดี: WordPress มีเครื่องมือและปลั๊กอินที่ช่วยปรับปรุง SEO ทำให้เว็บไซต์ติดอันดับในผลการค้นหาของ Google ได้ง่ายขึ้น
ข้อดีและคุณสมบัติพิเศษของ WordPress
ข้อดีและคุณสมบัติพิเศษของ WordPress เกิดจากการวางโครงสร้างของไฟล์เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการพัฒนาในแนวลึกและกว้างออกไปได้ในทุกมิติ จึงเหมาะกับผู้เริ่มต้นทำเว็บไซต์ครอบคลุมไปถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเขียนโปรแกรม มีเอกสารที่ถูกต้องและแหล่งชุมชนคอยสนับสนุน ทำให้เป็นโปรแกรมที่มีความโดดเด่นมาก
ข้อดีสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งาน
WordPress มีธีมและปลั๊กอินที่เราสามารถทำการติดตั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเว็บไซต์ของเรา เช่น หากต้องการใช้งานเว็บไซต์ของเราให้เป็นเว็บขายของก็สามารถติดตั้งปลั๊กอิน WooCommerce เพื่อให้สามารถใช้งานขายสินค้าได้
ข้อดีสำหรับผู้เชี่ยวชาญ
WordPress เปิดช่องให้นักพัฒนาโปรแกรมที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถเขียนหรือแก้ไขโค้ดเพิ่มเติมได้ เพื่อให้เว็บไซต์ของเรามีความสมบูรณ์ และมีเอกสารที่สอนถึงการเขียนโค้ดถูกต้องและครบถ้วน
ความนิยมและส่วนแบ่งตลาด
WordPress ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งในประเทศและนอกประเทศ สัดส่วนการใช้งานของ WordPress เมื่อเทียบกับการทำเว็บไซต์ด้วยวิธีอื่นๆ สูงถึง 43.2% หรือเกือบ 810 ล้านเว็บไซต์ใช้ WordPress ในปี 2024 ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ใช้งาน เช่น The New York Time, Nike, Bloomberg, Microsoft News, WaltDisey, Time Magazine และอื่นๆ (ข้อมูลสถิติอ้างอิงจากเว็บไซต์ Searchlogistics)
ในประเทศไทย เราจะพบว่ามีเว็บไซต์ดังๆ มากมาย ที่ใช้โปรแกรม WordPress นี้อยู่ เช่น ประชาชาติธุรกิจ มติชน มิติหุ้น ช่อง WorkPoint TV, The Reporter, MoneyExpo เป็นต้น
รู้จัก WordPress.com กับ WordPress.org
WordPress มีให้บริการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ WordPress.com และ WordPress.org
- WordPress.com จะเป็นการให้บริการแบบ Web-based service ของบริษัท Automattic ซึ่งมีรูปแบบการสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการกับเว็บไซต์ WordPress.com เป็นการให้บริการแบบครบวงจร ไม่ต้องติดตั้งตัวโปรแกรม ระบบมีให้อยู่แล้วไม่ต้องกังวลเรื่องการติดตั้งและบำรุงรักษาแต่มีข้อจำกัดในการใช้งาน มีบริการฟรีและแบบจ่ายเงินตามแพ็คเกจที่เราเลือกใช้งาน สมัครโดยใช้อีเมลแล้วใช้งานได้ในทันที โดเมนและโฮสติ้ง (Domain and Hosting) เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ
- WordPress.org จะเป็นการติดตั้งโปรแกรม WordPress บนโดเมนและโฮสติ้งของตนเอง เราจะต้องดาวน์โหลดโปรแกรม WordPress จากเว็บไซต์ WordPress.org มาลงบนเครื่องเซิฟเวอร์ที่เราทำการเช่าพื้นที่อยู่หรือใช้บริการ WordPress ผ่านบริษัทโฮสติ้งที่เราทำการเช่าใช้งานแบบไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์มาติตตั้ง การใช้งานลักษณะนี้จะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งได้เต็มที่ เราต้องดูแลติดตั้งและบำรุงรักษาเอง
ความแตกต่างระหว่าง WordPress.com และ WordPress.org
- การติดตั้งโปรแกรม WordPress.com ไม่จำเป็นต้องติดตั้งสามารถใช้งานได้ทันทีบนโฮสติ้งของเวิร์ดเพรส ในขณะที่การใช้งานแบบ WordPress.org เราจำเป็นที่จะต้องติดตั้งบนโฮสติ้งของเราเอง
- การบำรุงรักษา WordPress.com จะใช้เพียงอีเมลในการลงทะเบียนและสามารถใช้งานได้ ไม่ต้องบำรุงรักษาในส่วนของโฮสติ้ง ในขณะที่ WordPress.org จะต้องดูแลโฮสติ้งเอง
- การใช้งาน WordPress.com จะมีข้อจำกัดการใช้งาน เช่น การเลือกใช้ธีมและปลั๊กอิน การใช้งานโดเมนเนม ทั้งนี้ขึ้นกับแพ็คเกจที่เลือกใช้ ในขณะที่ WordPress.org ไม่มีข้อจำกัดการใช้งาน
- ความยืดหยุ่น WordPress.com ไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน แก้ไขโค้ดได้ยาก WordPress.org มีความคล่องตัวกว่า เพราะโฮสติ้งเป็นของเราทำให้การแก้ไขโค้ดทำได้เลยในทันที
คุณสมบัติหลักของ WordPress
การจัดการเนื้อหา (Content Management)
WordPress มีคุณสมบัติหลัก คือ การจัดการเนื้อหาที่ดีจึงเป็นที่นิยมสำหรับเว็บไซต์ประเภทกลุ่มข่าวสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ ดังนี้
- การเขียนบทความ เราสามารถเพิ่ม แก้ไข ลบบทความได้เองได้ แบ่งเป็นหมวดหมู่ ป้ายกำกับ ใส่เนื้อหา รูป แกลลอรี่และวิดีโอได้
- การจัดการรูปภาพ วิดีโอ และสื่อต่างๆ เราสามารถเพิ่ม เปลี่ยน ลบรูป ปรับขนาดรูป เปลี่ยนมุมมองรูป เพื่อใช้งานในบทความหรือหน้าต่างๆ ได้
- การจัดการเมนู เราสามารถเพิ่ม แก้ไข ลบ จัดเรียงเมนูได้ตามต้องการทั้งในส่วนเมนูหลัก เมนูย่อย
- การตกแต่งหน้าตาเว็บไซต์ เราสามารถตกแต่งเว็บไซต์ในส่วนต่างๆ ได้ง่าย เช่น ความกว้างของเนื้อหา แถบด้านข้าง ขนาดตัวอักษร ประเภทตัวอักษร สีตัวอักษรและสีพื้นหลังเป็นต้น
ธีมและปลั๊กอิน
WordPress มีธีมและปลั๊กอินมากมายที่ช่วยเพิ่มฟังก์ชันและการออกแบบให้กับเว็บไซต์ คุณสมบัตินี้จะทำให้แต่ละเว็บไซต์แสดงผลได้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของหน้าตาเว็บไซต์และความสามารถของมัน
ธีม คือ หน้ากากหรือหน้าตาของเว็บไซต์ที่ครอบอยู่บนโปรแกรม WordPress เราสามารถที่จะเปลี่ยนหน้าตาเว็บไซต์ได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนธีมหรือหน้ากากนี้นี่เอง ธีมที่นิยมได้แก่ Hello Elementor, Astra, Newspaper เป็นต้น
ปลั๊กอิน คือ ส่วนเสริมของเว็บไซต์ ทำให้ WordPress ทำงานได้แบบยืดหยุ่น เช่น หากเราต้องการให้เว็บไซต์ของเราสามารถขายของได้ ก็สามารถติดตั้งปลั๊กอินที่ชื่อว่า WooCommerce หรือถ้าเราต้องการเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นก็สามารถติดตั้งปลั๊กอิน Wordfence ที่ช่วยจัดการในเรื่องของความปลอดภัย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปลั๊กอิน Elementor ที่ช่วยในการจัดหน้าเนื้อหาให้ดูสวยงามและทันสมัย
การปรับแต่งและการพัฒนา
เราสามารถทำการปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ที่ใช้ WordPress ได้ง่าย โดยสามารถทำการปรับแต่งสีต่างๆ เช่น สีพื้นหลัง สีตัวอักษร ขนาดตัวอักษร ประเภทตัวอักษร ขนาดรูปภาพและอื่นๆ ได้ง่าย
สำหรับผู้เริ่มต้น WordPress จะมีเมนูการปรับแต่งให้เราทำการปรับแต่งได้ ทั้งส่วนหัวและส่วนท้ายของเว็บไซต์ (Header and Footer) ส่วนแถบด้านข้าง (Sidebar) ส่วนเนื้อหาตั้งแต่ส่วนหัวข้อ (Title) รายละเอียดที่จำเป็น (Meta Description) และส่วนเนื้อหา (Content)
สำหรับนักพัฒนา WordPress หรือ WordPress Developer ในกรณีที่ต้องการจะพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นก็สามารถทำได้แบบไม่ยุ่งยาก เพราะ WordPress มีการวางโครงสร้างของโค้ดได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ในส่วนของธีม ที่จะมีธีมหลัก (Parent Theme) และธีมลูก (Child Theme) ทำให้แบ่งแยกชัดเจนระหว่างผู้พัฒนาหลักที่เขียนธีมตั้งแต่เริ่มต้นกับคนที่ต้องการแก้ไขธีมหลักโดยการใช้ธีมลูกมาทำการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธีมหลัก เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วยังมีในส่วนของปลั๊กอิน ที่นักพัฒนาสามารถทำการเขียนหรือสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะอย่างได้ เช่น หากต้องการเขียนปลั๊กอินที่ใช้สำหรับการสอนหนังสือออนไลน์ก็สามารถเขียนปลั๊กอินมารองรับได้เป็นต้น
แหล่งข้อมูลและชุมชนออนไลน์ที่สนับสนุน WordPress
สำหรับแหล่งชุมชนออนไลน์ที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ WordPress ได้แก่
- WordPress Stackexchange เป็นบอร์ดสำหรับสอบถามปัญหาเกี่ยวกับ WordPress ใช้งานเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน WordPress ทั่วโลกจะมาช่วยตอบและแก้ไขปัญหากัน สามารถตอบคำถามในเชิงโค้ดได้ด้วย
- WordPress Bangkok เป็นกลุ่มนักพัฒนา WordPress ในประเทศไทยในเฟสบุ๊ค สามารถช่วยเหลือสำหรับนักพัฒนาคนไทยได้
สำหรับแหล่งข้อมูลที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ WordPress ได้แก่
- WordPress Developer Resourses เป็นแหล่งรวมข้อมูลการเขียนโค้ด WordPress เช่น การเขียน Block Editor, การเขียนธีม, การเขียนปลั๊กอิน เป็นต้น
- เรียน WordPress กับ Themevilles เรารับสอน WordPress ตั้งแต่เริ่มต้นจึงถึงขั้นสูง สามารถติดต่อเราได้ มีทั้งแบบตัวต่อตัว ห้องเรียนและออนไลน์
สรุปส่งท้าย
WordPress เป็นโปรแกรมทำเว็บไซต์ฟรีแบบ CMS ที่มีความยืดหยุ่นและปรับแต่งได้หลากหลาย เหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้เริ่มต้นจนถึงนักพัฒนามืออาชีพ ไม่ว่าคุณจะต้องการสร้างบล็อกส่วนตัว, เว็บไซต์ธุรกิจ, หรือร้านค้าออนไลน์ WordPress ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้อย่างครบถ้วน เราสามารถเรียนรู้ WordPress ได้จากหลากหลายช่องทางและมีแหล่งชุมชนให้สอบถามถึงปัญหาและแก้ไขปัญหา จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการทำเว็บไซต์ในปัจจุบัน หากใครสนใจที่จะเรียนเกี่ยวกับ WordPress ก็สามารถติดต่อเรามาได้ครับ