wordpress คือ

WordPress คืออะไร?

WordPress คืออะไร เป็นคำถามที่คนเริ่มทำเว็บไซต์มักจะได้ยินกันเสมอๆ ในบทความนี้เราจะมาดูคำจำกัดความหรือความหมายของคำๆ นี้ สาเหตุหรือเหตุผลที่นักพัฒนาเว็บไซต์ที่ทำไมต้องใช้ WordPress มีบริษัทใดที่ดังๆ ใช้กันบ้าง ประโยชน์และประเภทของ WordPress ราคา องค์ประกอบ และตัวอย่างของ WordPress ให้อ่านกันนะครับ

WordPress คือ

WordPress คือ แอพพลิเคชั่นหรือระบบโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับการสร้างเว็บไซต์แบบ CMS (Content Management System) ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน สาเหตุเป็นเพราะโปรแกรม WordPress ช่วยให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงภาษาหรือวิธีการเขียนโค้ดในการทำเว็บไซต์ เนื่องจากระบบของ WordPress ได้ทำการสนับสนุนการทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านของเว็บไซต์อยู่แล้ว ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ง่าย มีหน้าตาสวยงามตามที่ต้องการ และมีความรวดเร็วขึ้น

ทำไมต้องใช้ WordPress

เหตุผลก็คือ โปรแกรม WordPress เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูง สามารถติดตั้งได้ง่าย มีระบบสนับสนุนการทำงานของเว็บไซต์ ทำให้ผู้ใช้สามารถทำเว็บไซต์ของตนเองได้โดยง่ายและเร็วขึ้น มีกลุ่มผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากที่สอนการใช้งาน พัฒนา และให้คำปรึกษา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สามารถทำงานได้ในหลายภาษาและมีภาษาไทยด้วย โปรแกรมดังกล่าวได้มีการพัฒนาระบบให้มีทั้งประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นสูง และความปลอดภัยสูง ซึ่งเหตุผลทั้งหลายนี้ทำให้บริษัทหลายๆ บริษัทให้ความเชื่อถือและยอมรับในการใช้งานครับ

ประโยชน์ของ WordPress

  1. สร้างเว็บไซต์ได้ง่ายกว่าการเขียนโค้ดเพราะระบบมีให้อยู่แล้ว
  2. มีรูปแบบหน้าตาเว็บสวยๆ มากมายให้เลือกใช้งาน ทำให้เว็บดูทันสมัย
  3. มีการอัพเดทระบบตลอดเวลา มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และความปลอดภัยสูง
  4. มีแหล่งชุมชน กลุ่มผู้ใช้งานหรือคอมมูนิตี้จำนวนมากที่คอยตอบและแก้ปัญหาของ WordPress
  5. สามารถปรับแต่งเองได้ ในกรณีที่ต้องการฟีเจอร์พิเศษ มีระบบปลั๊กอินที่คอยสนับสนุน และในกรณีที่ไม่มีฟีเจอร์ที่ต้องการ สามารถเขียนโค้ดเพิ่มขึ้นไปเองได้ โดยระบบสนับสนุนในลักษณะ Child Theme
  6. ต้นทุนในการสร้างเว็บไม่แพง
  7. ทำงานได้หลายภาษา

ใครใช้ WordPress บ้าง

เนื่องจาก WordPreess เป็นที่นิยมสูง หากเราลองค้นหาคีย์เวิร์ดคำว่า ใครใช้ WordPress กันบ้าง เราจะพบว่ามีเว็บไซต์ดังๆ มากมาย ที่ใช้โปรแกรม WordPress นี้อยู่ เช่น ประชาชาติธุรกิจ มติชน ช่อง WorkPoint TV, The Reporter, MoneyExpo, jquery.com, CSS-tricks เป็นต้น

เมื่อเราดูในส่วนของสัดส่วนการตลาด (Market Share) ในส่วนของเว็บ w3techs.com จะพบว่า ในปี 2021 นั้น WordPress ครองแชมป์ในส่วนแบ่งตลาดของ CMS อยู่ที่ 64.6% ของตลาดการใช้งาน ขณะที่ Shopify อยู่ที่ 5.4% Joomla อยู่ที่ 3.3% และ SquareSpace อยู่ที่ 2.5% ตามลำดับ (ดูข้อมูลจาก w3tech.com) ถ้าเทียบกับเว็บไซต์ทั่วโลกในทุกแพล็ตฟอร์ม จะพบว่า WordPress นั้นมีสัดส่วนถึง 40.7% ของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก และมียอดดาวน์โหลดสำหรับเวอร์ชั่นล่าสุด WordPress 5.7 เกือบถึง 14 ล้านครั้งเลยทีเดียว

ประเภทของ WordPress

WordPress มี 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ WordPress.com และ WordPress.org โดยความแตกต่างกันนั้นจะอยู่ตรงที่ WordPress.com จะเป็นลักษณะการให้บริการแบบ Host Service โดยบริการจะมีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน แบบฟรีนั้นจะเป็นลักษณะเป็นการใช้งานแบบ Subdomain และพื้นที่การใช้งานจำกัด ในกรณีที่เราต้องการใช้งานแบบเป็นโดเมนของเราโดยเฉพาะจะต้องทำการเสียค่าบริการรายเดือนให้กับ WordPress.com หรือ หากเราต้องการขยายพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลเพิ่มจากแพ็คเกจที่ทาง WordPress.com ให้ก็จะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในส่วนของโดเมนและโฮสติ้ง (Domain and Hosting) นั้นเป็นส่วนหนึ่งในการบริการของ WordPress.com (ดูวิธีการใช้งาน WordPress.com ฟรีใน 5 นาที)

แต่ในกรณีที่เป็น WordPress.org นั้น จะเป็นการใช้งานในกรณีผู้ใช้ที่ต้องการใช้โดเมนและพื้นที่เก็บข้อมูล (host) ของตนเอง ผ่านบริษัทโฮสติ้งต่างๆ ทั้งในประเทศหรือนอกประเทศ เราสามารถที่จะค้นหาไฟล์ดาวน์โหลด WordPress มาลงไว้บนเครื่องเซิฟเวอร์ที่เราทำการเช่าพื้นที่อยู่ะทำการปรับแต่งในส่วนของเนื้อหา ภาพลักษณ์ หรือ คุณสมบัติได้ตามความต้องการ โดยจะเสียเพียงค่าเช่าโดเมนและโฮสติ้งเพื่อทำการเก็บข้อมูลเท่านั้น  ไม่ได้เสียค่าโปรแกรม WordPress (แนะนำโฮสติ้ง Hostatom)

ราคาของ WordPress

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ถ้าเป็นกรณี WordPress.org นั้นจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรมของ WordPress เลย แต่ในกรณีที่เป็น WordPress.com จะมีค่าใช้จ่าย ตามรายละเอียดด้านล่าง

ตารางราคา WordPress.com
ตารางราคา WordPress.com

จะเห็นว่า เริ่มต้นของ WordPress.com นั้นจะให้บริการฟรี แต่ถ้าในกรณีที่เสียเงินขั้นต่ำสุดจะอยู่ที่ 130 บาท ต่อเดือน จ่ายเงินแบบรายปี (หรือประมาณ 1,560 บาทต่อปี) และสูงสุดอยู่ที่ 1,500 บาท ต่อเดือน ซึ่งหมายถึง ถ้าเราจะทำร้านค้าออนไลน์ จะต้องเสียเงินถึง 18,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

หากเทียบกันแล้วในกรณีที่เป็น WordPress.org นั้น ขั้นต่ำที่เราจะต้องเสียคือค่าบริการโดเมนและโฮสติ้งที่เราสามารถเลือกค่าใช้จ่ายเองได้ผ่านบริษัทโฮสติ้ง ในราคาพื้นที่การจัดเก็บที่ 4GB SSD ราคาอยู่ที่ 690 บาท โดเมนหลักดอทคอม ราคาอยู่ที่ 400 บาท รวม 1090 บาท (ไม่รวม VAT) ข้อมูลนี้จากเว็บ Hostatom เราสามารถเปลี่ยนและเพิ่มธีมและปลั๊กอินได้ไม่จำกัดจำนวน ในขณะที่ WordPress.com นั้นถึงแม้จะเสียเงินที่ Personal Plan ได้พื้นที่จัดเก็บ 3GB ได้โดเมนหลัก จำกัดจำนวนธีมและปลั๊กอิน ทำให้ไม่สามารถอัปโหลดธีมและปลั๊กอินได้ตามความต้องการ

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเลือกใช้งานแบบ WordPress.org นั้นจะคุ้มค่ากว่ามาก หลังจากนี้ เราจึงจะพูดถึงการใช้งานในส่วนของ WordPress.org เท่านั้น หากใครต้องการใช้งานในส่วนของ WordPress.com ให้ไปดูที่หัวข้อ วิธีสมัคร WordPress ได้ครับ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมด้านราคาว่า WordPress.com ในแพ็คเกจมีอะไรให้บ้าง ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ราคาของ WordPress

WordPress Download

เราสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านลิงก์ WordPress Download นี้ ซึ่งไฟล์ที่เราดาวน์โหลดมานั้นจะเป็น zip file สามารถใช้งานได้ทั้งสำหรับเครื่อง Mac หรือ Windows เวอร์ชั่นที่ดาวน์โหลดมาปัจจุบันของ WordPress อยู่ที่เวอร์ชั่น 5

หลังจากดาวนโหลดลงมาที่เครื่องแล้ว วิธีการติดตั้งที่ง่ายที่สุดคือ เราจะต้องนำไฟล์ zip นี้แตกไฟล์และอัปโหลดไปยังโฮสติ้งที่เราเช่าอยู่ แล้วทำการเรียกใช้งานผ่านชื่อโดเมนเว็บไซต์ที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ ระบบของ WordPress ก็จะแสดงกล่องข้อความให้ดำเนินการติดตั้งต่อไปตามลำดับ รายละเอียดจะกล่าวในหัวข้อการติดตั้ง WordPress

สอน WordPress
สอน WordPress

องค์ประกอบของ WordPress

ระบบ WordPress ทั้งสองระบบจะมีองค์ประกอบและลักษณะการทำงานที่เหมือนกัน คือ จะมีส่วนของระบบหลัก (Core System) ที่ทำหน้าที่ในการจัดการและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้งาน ผ่านพื้นที่การทำงานหลังบ้านที่แบ่งโครงสร้างเมนู ได้แก่ เมนูเรื่อง (Posts) หน้า (Pages) การปรับแต่ง (Customize) การตั้งค่า (Settings) การเพิ่มธีม ปลั๊กอินและอื่นๆ ซึ่งเมื่อเราทำการใส่ข้อมูลที่หลังบ้านของเราแล้ว ผลที่ได้ก็จะแสดงผลมายังหน้าเว็บไซต์ที่อยู่ทางด้านหน้าแสดงให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์เห็น

หน้าตาของเว็บไซต์นั้น ระบบ WordPress มีการสนับสนุนระบบธีม (Themes) ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกธีมได้ตามใจชอบ เป็นลักษณะของการนำหน้ากากมาครอบระบบหลักเพื่อทำให้หน้าตาของเว็บไซต์มีความสวยงาม และในขณะที่ขีดความสามารถของเว็บไซต์ก็สามารถเพิ่มได้เช่นเดียวกัน เช่น ระบบการขายของออนไลน์ ระบบการสอนคอร์สออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ตัวเว็บไซต์ของเรามีประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

WordPress Theme

WordPress Theme หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ธีมนั้นเป็นเหมือนหน้าตาภาพลักษณ์ของเว็บไซต์ที่เราสามารถเลือกใช้งานได้ฟรีและเสียเงิน ความแตกต่างของธีมฟรีและเสียเงินนี้อยู่ที่การปรับแต่ง WordPress ที่จะมีความยากง่ายมากน้อย แตกต่างกันไป ในกรณีที่เราต้องการเลือกใช้งานธีมฟรี เราสามารถเลือกได้จากเว็บไซต์ WordPress.org และในกรณีที่เราจะทำการสั่งซื้อ เราสามารถสั่งซื้อได้จากเว็บที่ให้ขายธีมโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น Themeforest.net เป็นต้น

ตัวอย่าง WordPress Theme สวยๆ จาก Themeforest

wordpress-theme
ตัวอย่่างธีม WordPress

ปลั๊กอิน WordPress

ในส่วนของปลั๊กอินที่เป็นเหมือนอุปกรณ์เสริมเพิ่มขีดความสามารถให้ WordPress นั้น มีหลายกลุ่มและหมวดหมู่ ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการเพิ่มศักยภาพของเว็บเราในด้านใด เช่น ในหมวดของการตกแต่งหน้าตาเว็บไซต์ (Page Builder) และในส่วนการขายของออนไลน์ (Online Shopping) คอร์สออนไลน์ (Course Online) แปลภาษา (Translation) ระบบเมล์ (Mail) ฟอร์มต่างๆ (Form) ความเร็วเว็บไซต์ (Speed) และความปลอดภัย (Security) เป็นต้น

ปลั๊กอินยอดนิยมที่ใช้กัน ได้แก่ Elementor, WP Bakery, WooCommerce, Contact Form 7,  Yoast SEO,  LayerSlider, Smush, Loco Translate เป็นต้น

elementor
Elementor


ตัวอย่างความสามารถของระบบ WordPress ที่จะได้รับ

ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของระบบหลังบ้านที่เมื่อผู้ใช้งานทำการติดตั้งระบบ WordPress แล้วจะได้รับ ยกตัวอย่างเช่น การที่สามารถเพิ่มบทความได้เอง สามารถเปลี่ยนรูปได้ตามความต้องการ สามารถกำหนดในส่วนของเมนูได้ ปรับเปลี่ยนสี ขนาดของตัวอักษรหรือฟอนต์ และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของธีมและปลั๊กอินได้ตามความต้องการ

  • สามารถเพิ่มบทความได้เองได้โดยไม่ต้องแก้ไขโค้ด ซึ่งส่วนนี้จะอยุ่ในส่วนของเรื่อง (Posts) สามารถเพิ่มบทความได้เองได้โดยไม่ต้องแก้ไขโค้ด ปัจจุบัน WordPress ได้พัฒนาระบบการเขียนบทความใหม่ที่ชื่อว่า Gutenberg เข้ามาช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Gutenberg คืออะไร)
Posts
  • สามารถเปลี่ยนรูปได้ตามต้องการ โดยสามารถทำการปรับขนาดรูป พลิกซ้าย พลิกขวารูปได้
media
Media
  • สามารถปรับแต่งเมนูได้ตามต้องการ เพียงแค่ลากจากกล่องทางด้านซ้ายมือมาวางเป็นลำดับเมนูทางด้านขวามือ
menu
Menu
  • ตกแต่งส่วนต่างๆ ได้ง่าย เช่น โครงสร้างเว็บไซต์ sidebar เปลี่ยนสี เปลี่ยนขนาดตัวอักษร เป็นต้น
customizer
Customizer

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลังจากอ่านบทความนี้ไปแล้ว เราพร้อมที่จะเริ่มเรียน WordPress กันแล้วหรือยัง หากพร้อมแล้ว เรามาเริ่มเรียน WordPress กันเถอะครับ

สอน WordPress
สอน WordPress
avatar

นายปิ๊ก


ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Themevilles.com เป็นอาจารย์สอน WordPress และ WooCommerce ในเว็บคอร์สออนไลน์ Skilllane และรับทำเว็บไซต์ ทำการตลาดออนไลน์ เช่น SEO, Facebook และ LINE

สอบถามผ่านทาง Line QR Code qr-code.png