สอน WooCommerce 2

สอน WooCommerce [คู่มือและวิธีใช้งาน] ตอนที่ 2

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ถึงวิธีการสร้างสินค้าแล้วนะครับ สำหรับ สอน WooCommerce ปลั๊กอินขายของออนไลน์ [คู่มือและวิธีใช้งาน] ตอนที่ 2 นี้เราจะมาดูในส่วนของการตั้งค่า Settings ของ WooCommerce กันบ้างครับ

อ่านบทความย้อนหลัง

สำหรับหัวข้อการตั้งค่า WooCommerce นี้ เริ่มต้นให้เราไปที่เมนู WooCommerce > Settings ครับ หน้านี้จะแสดงให้เห็นถึงการตั้งค่าในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ การตั้งค่าทั่วไป (General) การตั้งค่าสินค้า (Products) การตั้งค่าการจัดส่ง (Shipping) การตั้งค่าระบบชำระเงิน (Payments) การตั้งค่าบัญชีผู้ใช้และความเป็นส่วนตัว (Account & Privacy) การตั้งค่าอีเมล์ (Emails) การร่วมใช้งานกับปลั๊กอินอื่น (Integration) และการตั้งค่าขั้นสูง (Advanced)

การตั้งค่าทั่วไป (General)

General settings
General settings

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าที่อยู่ของร้าน (Store Address) ที่เราเคยใส่ข้อมูลตอนเราเริ่มทำการติดตั้ง WooCommerce ตอนเริ่มต้น หากเราต้องการทำการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ก็สามารถทำการแก้ไขได้ในส่วนนี้ครับ สำหรับรายการอื่นที่เราจะต้องทำการตั้งค่าเพิ่มเติมมีดังนี้

ส่วนของการตั้งค่าเสริม (General Options)

  • พื้นที่การขาย (Selling location(s)) ส่วนนี้เราสามารถทำการกำหนดได้ว่า เราต้องการขายสินค้าในพื้นที่ใด หรือไม่ต้องการขายในพื้นที่ใดครับ
  • พื้นที่การจัดส่ง (Shipping location(s)) เราสามารถทำการกำหนดได้ว่าเราจะส่งสินค้าไปที่ใดบ้าง เช่น ส่งไปทุกพื้นที่ที่เราทำการขาย หรือส่งไปเฉพาะบางประเทศ หรือปิดการส่งและคำนวนค่าจัดส่ง
  • ตำแหน่งลูกค้า (Default customer location) สำหรับส่วนนี้ระบบ WooCommerce จะทำการตรวจสอบว่า ผู้ซื้ออยู่ที่ใด สามารถกำหนดได้ว่าให้อ้างอิงจากที่อยู่ของร้านค้า หรือตามระบบ Geolocate ครับ ทั้งนี้การทราบที่อยู่ของผู้ซื้อจะนำไปคำนวณเรื่องค่าจัดส่งและภาษีด้วย
  • การเปิดใช้งานการค่าภาษี (Enable taxes) เป็นการเปิดใช้งานในส่วนของการคำนวนอัตราภาษี ซึ่งตะถูกคำนวนในระหว่างการสั่งซื้อหน้าเช็คเอาท์
  • การเปิดใช้งานคูปอง (Enable coupons) เป็นการเปิดใช้งานในส่วนของโค้ดคูปองที่นำมาเป็นส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้า  และสามารถกำหนดได้ว่าสามารถใช้คูปองได้หลายตัวซ้อนกันแบบท็อบอัพหรือไม่

ส่วนจัดการค่าเงิน (Currency options)

สำหรับส่วนของการจัดการค่าเงินนั้น จะเป็นการระบุว่าหน่วยเงินที่เราจะใช้ในเว็บไซต์นี้เป็นหน่วยใด ตำแหน่งการวางตัวย่อค่าเงิน เช่น ค่าเงินบาท (฿) จะวางไว้ตรงทางซ้ายหรือขวาของตัวเลข และส่วนของการแบ่งหลักพัน ทศนิยม และจำนวนหลักทศนิยมครับ

สินค้า (Products)

Product settings
Product settings

ส่วนสินค้านี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนย่อย ได้แก่ การตั้งค่าทั่วไปของสินค้า (General) การตั้งค่าสินค้าคงคลังหรือสต๊อกสินค้า (Inventory) และการตั้งค่าสำหรับสินค้าดาวน์โหลด (Downloadable products)

การตั้งค่าทั่วไป (General)

ในส่วนของหน้าการตั้งค่าทั่วไป (General) นี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ การตั้งค่าหน้าร้านสินค้า (Shop) การตั้งค่าการหน่วยการวัด (Measurements) และการตั้งค่ารีวิว (Reviews)

การตั้งค่าหน้าร้าน (Shop pages)

การตั้งค่าหน้าร้าน (Shop pages) เป็นส่วนที่ให้เราสามารถกำหนดได้ว่า หน้าร้านของเราจะดึงหน้าใดในหน้าหลักมาใช้งาน สำหรับค่าเริ่มต้นของหน้านี้ถูกกำหนดให้เป็นหน้า Shop ที่อยู่ในหน้าหลัก (Pages) ครับ อีกส่วนหนึ่งที่เราสามารถตั้งค่าได้ในหน้านี้ก็คือ การตั้งค่าพฤติกรรมการกดปุ่มสั่งซื้อสินค้า (Add to cart behavior) ที่เราสามารถทำการกำหนดได้ว่าหลังจากทำการกดปุ่มแล้วให้ทำการเปลี่ยนหน้าไปยังหน้าตะกร้าสินค้าทันทีหรือไม่ (Redirect to the cart page after successful addition) และอีกส่วนหนึ่งคือ การเปิดใช้งาน AJAX ของปุ่มสั่งซื้อในหน้าหมวดหมู่สินค้า (Enable AJAX add to cart button on archives) ส่วนสุดท้ายคือ การเลือกใช้งานรูปเริ่มต้น (Placeholder) ที่จะถูกใช้แทนก่อนในกรณีที่เรายังไม่ได้ใส่รูปสินค้าครับ

การตั้งค่าหน่วยวัด

สำหรับการตั้งค่าหน่วยวัดนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ก็คือ น้ำหนัก (Weight unit) และขนาด (Dimensions unit) ครับ เราสามารถทำเปลี่ยนประเภทของหน่วยวัดที่เราต้องการได้ที่นี่

การตั้งค่ารีวิว (Reviews)

สำหรับในส่วนการตั้งค่ารีวิว (Reviews) จะเป็นการเปิดใช้งานการรีวิวสินค้า (Enable product reviews) การให้มีคำว่าได้ถูกตรวจสอบจากเจ้าของแล้วในส่วนของการรีวิวสินค้า และการเปิดให้แสดงรายการรีวิวที่ถูกตรวจสอบเท่านั้น

ในส่วนของคะแนนสินค้า (Product ratings) จะเป็นการเปิดให้มีการแสดงรูปดาวที่ให้คะแนนในส่วนของการรีวิว (Enable star rating on reviews) และจะต้องให้ผู้รีวิวต้องทำการให้คะแนนดาวด้วยมิฉะนั้นจะไม่แสดงข้อความความคิดเห็น (Star ratings should be required, not optional)

การตั้งค่าสินค้าคงคลัง (Inventory)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าการบริหารสต๊อกสินค้า เราสามารถทำการเปิดใช้งานการควบคุมสต๊อกสินค้าได้ที่นี่ (Enable stock management) สามารถระบุได้ว่าเราต้องการให้มีการกันสต๊อกไว้สำหรับคนที่สั่งซื้อในระยะเวลากี่วัน (Hold stock) มีการแจ้งเตือน (Notification) เมื่อสินค้าในสต๊อกต่ำหรือหมดสต๊อก โดยสามารถทำการกดหนดตัวเลขขั้นต่ำหรือเกณฑ์ที่กำหนด (Threshold) อีเมล์สำหรับการแจ้งเตือน (Notification recipients) และรูปแบบการแจ้งเตือน (Display format)

สินค้าดาวน์โหลด (Downloadable products)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าสำหรับสินค้าที่เราให้ดาวน์โหลด เช่น ไฟล์เสียง ไฟล์รูป เราสามารถกำหนดวิธีการดาวน์โหลด (File download method) และสิทธิในการเข้าถึงการดาวน์โหลด (Access restriction) ได้ที่นี่ครับ

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce

การตั้งค่าการจัดส่ง (Shipping)

สำหรับการตั้งค่าการจัดส่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่การจัดส่ง (Shipping zones) การตั้งค่าตัวเลือกการจัดส่ง (Shipping options) และประเภทการจัดส่ง (Shipping Classes)

พื้นที่การจัดส่ง (Shipping zones)

เราสามารถกำหนดเขตพื้นที่การจัดส่งที่เราต้องการ โดยสามารถทำการแบ่งเป็นประเทศหรือแบ่งเป็นจังหวัดก็ได้ ประโยชน์ของการแบ่งพื้นที่การจัดส่งก็คือ เราสามารถที่จะกำหนดเรทราคาค่าจัดส่งของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันได้

ตัวเลือกการจัดส่ง (Shipping options)

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการตั้งค่าการจัดส่งครับ ได้แก่ การคำนวณค่าจัดส่ง (Calculations) ในหน้าตะกร้าสินค้า การซ่อนการคำนวนต้นทุนค่าจัดส่งจนกระทั่งใส่ข้อมูลที่อยู่ของลูกค้า และการระบุที่จัดส่ง (Shipping destination) กำหนดปลายทางที่จัดส่งว่าเป็นที่ใดระหว่างที่อยู่ของใบแจ้งหนี้กับที่รับสินค้าครับ

ประเภทการจัดส่ง (Shippinbg classes)

เราสามารถทำการสร้างประเภทการจัดส่งเพิ่มเติมขึ้นได้ หากประเภทของการจัดส่งที่ทาง WooCommerce กำหนดให้ ไม่สอดคล้องกับธุรกิจของเรา หน้าประเภทของการจัดส่งนี้เป็นเพียงการระบุชื่อประเภทของการจัดส่งและคำบรรยายเท่านั้น ตัวอย่างประเภทของการจัดส่ง เช่น จัดส่งสินค้าขนาดใหญ่คิดคำนวณ 2 เท่า หรือ จัดส่งสินค้าจำนวนมากลด 35% เป็นต้น เราจะต้องนำค่านี้ไปกำหนดสูตรอีกครั้งในหน้าพื้นที่การจัดส่งครับ

ระบบชำระเงิน (Payment)

Payment settings
Payment settings

หน้าระบบชำระเงินนี้จะเป็นหน้าที่ตั้งค่าระบบการชำระเงินต่างๆ ตั้งแต่ ระบบการโอนเงินผ่านธนาคาร (Direct bank transfer) ระบบสั่งจ่ายด้วยเช็ค (Check payments) ระบบจ่ายเงินปลายทาง (Cash on delivery) การสั่งจ่ายแบบเพย์พอล (PayPal) และแบบปุ่มเพย์พอล (PayPal Checkout) ซึ่งเราสามารถทำการเลือกเปิดการใช้งานแต่ละอย่างตามที่เราต้องการ

สำหรับการสั่งจ่าย 3 แบบแรก การตั้งค่าให้เราใส่ข้อมูลที่จำเป็น เช่น เลขที่บัญชีธนาคาร (Account Name) วิธีการจัดส่ง (Shipping Method) และคำแนะนำต่างๆ (Title and Description) ตามที่ช่องว่างกำหนดไว้ และส่วนเพย์พอล (PayPal) นั้น เราจะต้องทำการสร้างบัญชีของตนเองที่หน้าเว็บไซต์เพย์พอลก่อน แล้วให้นำค่า API จากเว็บดังกล่าวมาใส่ไว้ในช่องตั้งค่าเพื่อให้เว็บของเราทำการเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินครับ  

ระบบบัญชีและความเป็นส่วนตัว (Account & Privacy)

หน้านี้จะเป็นการเป็นการกำหนดค่าระบบบัญชีและความเป็นส่วนตัว เช่น การจัดการการสั่งซื้อจากผู้ที่ไม่ได้ทำการลงทะเบียน (Guest Checkout) ว่าจะอนุญาตให้ลูกค้าสามารถทำการสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ต้องทำการลงทะเบียนในเว็บไซต์ก่อนหรือไม่ (Allow customers to place orders without account) หรืออนุญาตให้ลูกค้าสามารถล็อกอินเข้าในบัญชีที่เขามีอยู่แล้วระหว่างการชำระเงินได้ (Allow customers to log into an existing account during checkout) นอกจากนั้นแล้วยังมีในส่วนของการสร้างบัญชี (Account creation) ว่าสามารถทำการสร้างในขั้นตอนหน้าเช็คเอาท์ (Checkout page) หรือหน้าบัญชีของฉัน (My account)

เรายังสามารถทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลและการดาวน์โหลดไฟล์ในกรณีที่ลูกค้าร้องขอให้ทำการลบ (Account erasure requests) และสามารถกำหนดหน้าแสดงนโยบายส่วนบุคคล (Privacy policy) ที่กำหนดให้ว่า เว็บของเราจะทำการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในเรื่องใดและกำหนดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า (Personal data retention) เช่น ระยะเวลาการไม่ใช้งานบัญชีผู้ใช้งาน ระยะเวลาการรอการสั่งซื้อ เป็นต้น

อีเมล์ (Email)

Email settings
Email settings

สำหรับส่วนถัดมาจะเป็นส่วนของการจัดการอีเมล์ครับ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ที่ส่งให้ลูกค้าและส่งให้ผู้ขาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อแล้วจะมีอีเมล์ไปยังลูกค้านั้น แจ้งสถานการณ์สั่งซื้อว่าสั่งซื้อสำเร็จ (Completed order) หรืออยู่ในสถานะรอ (Order on-hold) หรือสถานะสั่งซื้ออยู่ระหว่างดำเนินการ (Processing order) หรือจะส่งอีเมล์มาแจ้งเตือนผู้ขายว่ามีการสั่งซื้อใหม่ (New order) เกิดขึ้น การยกเลิกการสั่งซื้อ (Cancelled order) และรายการสั่งซื้อล้มเหลว (Failed order) เป็นต้น

ในส่วนของอีเมล์นี้ ยังมีการแจ้งเตือนในส่วนของการสร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่ (New account) การรีเซ็ทพาสเวิร์ด (Reset password) และอื่นๆ

ส่วนเชื่อมต่อ (Integration)

ส่วนการเชื่อมต่อ (Integration) นี้จะเป็นการเชื่อมต่อกับปลั๊กอิน WooCommerce and Facebook Integration ครับ ปลั๊กอินตัวนี้จะช่วยให้เราสามารถทำการควบคุมสินค้าที่เฟสบุ๊คผ่านทาง WooCommerce มีระบบการตรวจสอบการใช้งานผ่าน Facebook pixel และสามารถทำการทำโฆษณาสินค้าของเราได้

ส่วนขั้นสูง (Advanced)

ส่วนนี้จะเป็นการตั้งค่าขั้นสูงของ WooCommerce ครับ ประกอบด้วยหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่การตั้งค่าหน้า การใช้งานส่วนของ REST API, Webhooks, Legacy API และ WooCommerce.com เนื่องจากหัวข้อนี้ค่อนข้างยากสำหรับการใช้งานพื้นฐานจึงไม่ขออธิบายในบทความนี้นะครับ

สำหรับหัวข้อ สอน WooCommerce ตอนที่ 2 ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ สำหรับส่วนอื่นๆ ก็ติดตามกันได้ในตอนต่อไป

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce
avatar

นายปิ๊ก


ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Themevilles.com เป็นอาจารย์สอน WordPress และ WooCommerce ในเว็บคอร์สออนไลน์ Skilllane และรับทำเว็บไซต์ ทำการตลาดออนไลน์ เช่น SEO, Facebook และ LINE

สอบถามผ่านทาง Line QR Code qr-code.png