รู้จัก XML Sitemap แผนผังเว็บไซต์

สวัสดีครับ บทความนี้เราจะมาพูดถึง XML Sitemap ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และวิธีการสร้าง XML Sitemap ด้วยปลั๊กอินที่ชื่อว่า RankMath กันนะครับ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

XML Sitemap คืออะไร

ก่อนที่เราจะทำการสร้าง XML Sitemap นั้น เราจะต้องทำความรู้จักกับมันก่อนว่า มันคืออะไรครับ XML Sitemap นั้น ถ้าแปลเป็นไทยก็หมายถึงแผนผังเว็บไซต์ เป็นไฟล์นามสกุล XML เช่น sitemap.xml ทำหน้าที่เหมือนสารบัญของหนังสือเพื่อ Google สะดวกในการจัดเก็บข้อมูลไปประมวลผลทำดัชนีของระบบ Search Engine อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไฟล์ดังกล่าวจะทำให้รู้ว่าโครงสร้างทั้งหมดของเว็บไซต์แบ่งเป็นหมวดหมู่อะไรบ้าง มีลำดับขั้นของเนื้อหาเป็นอย่างไร เวลาที่เนื้อหาได้ถูกตีพิมพ์ เวลาที่เนื้อหาถูกอัพเดท นอกจากนั้นแล้วยังบอกถึงความสำคัญของหน้าเนื้อหานั้นๆ ว่ามีความสำคัญขนาดไหน

XML Sitemap ยังช่วยในเรื่องของข้อมูลที่ลึกลงไปสำหรับ วิดีโอ รูปภาพ และข่าว อีกด้วย ถ้าเป็นวิดีโอจะบอกถึงความยาวของวิดีโอ หมวดหมู่และประเภทวิดีโอว่าเหมาะสมกับวัยหรือไม่ ส่วนรูปภาพก็จะบอกถึงประเภทของรูป ใบอนุญาตของรูป และในส่วนของบทความจะรวบรวมชื่อบทความและเวลาที่ตีพิมพ์เป็นต้น ด้านล่างเป็นตัวอย่างเบื้องต้นสำหรับ XML Sitemap หากต้องการดูรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น สามารถดูได้จาก sitemap.org

<?xml version="1.0" encoding="UTF-8"?>
<urlset xmlns="http://www.sitemaps.org/schemas/sitemap/0.9">
  <url>
    <loc>http://www.example.com/page.html</loc>
    <lastmod>2022-01-25</lastmod>
  </url>
</urlset>

XML Sitemap จำเป็นกับเว็บประเภทใด

เว็บที่จำเป็นมากในการทำ XML Sitemap คือเว็บที่มีขนาดใหญ่มาก ทั้งในส่วนของเนื้อหา รูปภาพ หรือวิดีโอ เว็บที่ลิงก์ภายในไม่เชื่อมโยงกัน หรือเว็บใหม่ที่พึ่งตีพิมพ์และมีลิงก์เข้าเว็บไม่มากนัก ถ้าเป็นเว็บขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีไฟล์วิดีโอ รูปภาพ และได้ทำการลิงก์เนื้อหาภายในอย่างครอบคลุมแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสร้างไฟล์ XML Sitemap เพราะ Google จะทำการเก็บรวบรวมเองได้อยู่แล้ว

เราจะสร้าง XML Sitemap ได้อย่างไร

XML Sitemap เป็นไฟล์ XML แบบ Markup Language ที่มีโครงสร้างภาษาที่ออกแบบมาใช้ในการเก็บและส่งข้อมูล มีแท็กที่สามารถกำหนดเองได้ เราสามารถที่จะเขียน XML Sitemap ขึ้นมาเองได้ หรือสามารถใช้โปรแกรมในการสร้างก็ได้ซึ่งจะมีทั้งโปรแกรมทั่วไปแบบออฟไลน์และออนไลน์หรือปลั๊กอินของ WordPress ครับ ตัวอย่างสำหรับโปรแกรมแบบออฟไลน์และออนไลน์ ได้แก่ Screamingfrog และ xml-sitemaps ในส่วนของปลั๊กอินนั้นจะมีปลั๊กอินของ WordPress เกี่ยวกับ Search Engine Optimization (SEO) ได้แก่ Rankmath ที่สามารถสร้าง XML Sitemap ให้เราได้แบบอัตโนมัติเช่นเดียวกัน ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง XML Sitemap โดย Rankmath เท่านั้นนะครับ

XML Sitemap โดย Rankmath

Rankmath เป็นปลั๊กอินที่ช่วยเว็บไซต์ในเรื่องของการเขียนบทความให้ถูกต้องตามหลักของ Google ทำให้บทความของเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ปลั๊กอินตัวนี้นอกจากที่จะมีเรื่องของคำแนะนำการเขียนบทความแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจัดการ XML Sitemap ด้วย โดยจะอยู่ในเมนู Rankmath > Sitemap Settings ซึ่งระบบของ XML Sitemap นี้จำเป็นที่จะต้องมีบทความหรือหน้าจำนวนหนึ่งก่อนที่จะทำให้ให้ Rankmath ทำการสร้างไฟล์ XML ขึ้นมาให้ Google ทำการจัดเก็บข้อมูลได้ และจะแสดงหน้า XML Sitemap ตามรูปแบบด้านล่าง

XML Sitemap
XML Sitemap

สำหรับวิธีการตั้งค่า เมื่อเราเข้าหน้าเมนู Sitemap Settings แล้ว ภายในจะมีเมนูย่อยแบ่งตามประเภทต่างๆ เช่น เรื่อง (Posts) หน้า (Pages) เอกสารแนบ (Pages) หมวดหมู่ (Categories) ป้ายกำกับ (Tags) ซึ่งในแต่ละเมนูจะมีระบบการจัดการ Sitemap แต่ละชุดแต่ละไฟล์แตกต่างกันออกไป เราสามารถที่จะกำหนดได้ว่า รายการประเภทใดไม่ต้องการให้ Google ทำการเก็บข้อมูลไปแสดงผลในรายการดัชนี (Index) โดยทำการปิดการใช้งานในส่วนนั้นๆ ได้ครับ จากตัวอย่างเป็นการปิดไม่ให้แสดงหน้าป้ายกำกับ (Tags) ซึ่งทำให้ Google ไม่สามารถนำหน้านี้ไปแสดงได้

ปิดไม่ให้แสดงหน้า Tags ใน XML Sitemap
ปิดไม่ให้แสดงหน้า Tags ใน XML Sitemap

สำหรับในหน้า General ทั่วไป เราสามารถกำหนดค่าดังต่อไปนี้ได้

การตั้งค่า General ใน Rankmath
การตั้งค่า General ใน Rankmath
  • Links Per Sitemap คือ จำนวนลิงก์ต่อ Sitemap ที่เราต้องการ ค่าเริ่มต้นอยู่ที่ 200 ลิงก์
  • Images in Sitemaps คือ เราต้องการให้มีลิงก์อ้างอิงของรูปที่ Sitemap หรือไม่ รูปนี้จะเป็นรูปที่อยู่ในเนื้อหา
  • Include Featured Images คือ เราต้องการให้มีรูปหลัก (Featured Image) ใน Sitemap หรือไม่
  • Exclude Posts คือ รายการบทความที่ไม่ต้องการใส่ใน Sitemap โดยให้เราทำการระบุเป็นไอดีของบทความนั้น
  • Exclude Terms คือ รายการกลุ่มต่างๆ เช่น หมวดหมู่ ป้ายกำกับ โดยให้เราทำการระบุไอดีของกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แสดงผลใน Sitemap
  • Ping Search Engines เป็นการแจ้งเตือน Google และ Bing ทำการเข้ามาเก็บข้อมูล Sitemap

หลังจากที่เรากำหนดค่าเรียบร้อยแล้ว ระบบจะทำการสร้างไฟล์ขึ้นมาให้ตามการตั้งค่าที่เรากำหนด โดยในกรณีของ Rankmath นั้นจะมี Sitemap จำนวนหลายตัวด้วยกันแบ่งตามที่เรากำหนด เช่น เรื่อง (post) จะมี Sitemap URL เป็นไฟล์ชื่อ post-sitemap.xml แต่ถ้าเป็นหน้า (page) ก็จะมีไฟล์ชื่อ page-sitemap.xml เป็นต้น

เมื่อเราทำเสร็จแล้วเราก็รอ Google เข้ามาเก็บข้อมูลของเราได้เลย โดยเราสามารถตรวจสอบว่า XML Sitemap ของเราได้ถูกเก็บข้อมูลไปหรือไม่ได้ผ่านโปรแกรมของ Google ชื่อ Google Search Console

การตรวจ XML Sitemap ผ่าน Google Search Console

ก่อนที่เราจะทำการตรวจสอบ XML Sitemap ได้นั้น เราจะต้องทำการลงทะเบียนเว็บไซต์ผ่านระบบก่อน หลังจากนั้นให้เราทำการตรวจสอบผ่านได้ที่เมนูแผนผังเว็บไซต์ หากเว็บของเรา Google เข้ามาเก็บข้อมูลแล้ว จะมีสถานะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ พร้อมบอกวันและเวลาในการส่งและอ่านล่าสุด รวมถึงจำนวน URL ที่ค้นพบใน Sitemap นั้นด้วย

สำหรับบทความเรื่อง XML Sitemap ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ รอติดตามบทความต่อไปได้ในโอกาสถัดไปนะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ..

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce