สอน WordPress 5

สอน WordPress [คู่มือและวิธีใช้งาน] ตอนที่ 5

สำหรับหัวข้อบทความ สอน WordPress ตอนที่ 5 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายนี้ เราจะมาพูดถึง การจัดการผู้ใช้งาน (Users) และการใช้เครื่องมือ (Tools) กันนะครับ

อ่านบทความย้อนหลัง

การจัดการผู้ใช้งาน (Users)

ในส่วนของการจัดการผู้ใช้งาน (Users) นี้ หลังจากที่เราได้ทำการติดตั้ง WordPress แล้ว ระบบจะดำเนินการสร้างรายชื่อผู้ใช้งานคนแรก ซึ่งก็คือ ตัวเรานั่นเอง ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการเว็บไซต์ (Administrator) มีการสรุปข้อมูลส่วนบุคคลของเราไว้ในเมนูข้อมูลส่วนบุคคล (Your Profile) เราสามารถทำการสร้างผู้ใช้งานรายใหม่โดยเลือกในส่วนของการเพิ่มผู้ใช้งาน (Add New) และสามารถดูรายชื่อผู้ใช้งานทั้งหมดได้ในหัวข้อผู้ใช้งานทั้งหมด (All Users)

ข้อมูลส่วนบุคคล (Your Profile)

ในหัวข้อข้อมูลส่วนบุคคล (Your Profile) นี จะมีส่วนให้เราทำการตั้งค่าและปรับแต่งหน้าตาหลังบ้านเว็บไซต์ได้ ดังต่อไปนี้

ข้อมูลส่วนตัว (Your Profile)
ข้อมูลส่วนตัว (Your Profile)
  • ตัวแก้ไขเสมือนจริง (Visual Editor) เราสามารถปิดการทำงานตัวแก้ไขเสมือนจริง (Visual Editor) ได้ เมื่อเราไม่ต้องการใช้งานเสมือนจริง (Visual) ด้านบนขวามือจะหายไป
  • การเน้นไวยากรณ์ (Syntax Highlighting) เราสามารถทำการเปิดหรือปิดการเน้นไวยากรณ์สำหรับการแก้ไขโค้ดได้
  • สีของหน้าดูแลระบบ (Admin Color Scheme) เราสามารถปรับเปลี่ยนสีของหน้าดูแลระบบ (Admin Page) ได้โดยมีให้เลือกแปดกลุ่มสี
  • ปุ่มลัดคีย์บอร์ด (Keyboard Shortcuts) เมื่อเราทำเครื่องหมายถูกหน้าปุ่มลัดคีย์บอร์ดแล้ว เราสามารถใช้คีย์บอร์ดเพื่อจัดการระบบความคิดเห็นที่มีจำนวนมากได้ง่ายขึ้น วิธีการคือ ให้เราไปหน้าความคิดเห็น (Comments๗ เมื่อเราพิมพ์อักษรด้านล่างจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
    • พิมพ์ j จะทำการเลือกความคิดเห็นจากด้านบนลงด้านล่าง
    • พิมพ์ k จะทำการเลือกความคิดเห็นจากด้านล่างขึ้นด้านบน
    • พิมพ์ a เป็นการอนุมัติให้ความคิดเห็นที่เลือกแสดงผลได้
    • พิมพ์ s เป็นการให้ความคิดเห็นที่เลือกเป็นสแปม
    • พิมพ์ d เป็นการให้ความคิดเห็นที่เลือกนั้นไปอยู่ในถังขยะ
    • พิมพ์ z เป็นการคืนค่าความคิดแห็นที่เลือกที่อยู่ในถังขยะให้อยู่ในสถานะเดิม
    • พิมพ์ u เป็นการไม่อนุมัติความคิดเห็นที่เลือก โดยให้กับไปอยู่สถานะรอการตัดสินใจ (Moderation)
    • พิมพ์ r เมื่อต้องการตอบกลับในความคิดเห็นนั้นๆ จะมีส่วน Reply ให้ตอบกลับ สามารถกด Esc เพื่อยกเลิก
    • พิมพ์ q จะทำการแก้ไขแบบเร็ว (Quick Edit) สำหรับความคิดเห็นที่เลือก
    • พิมพ์ e เพื่อทำการแก้ไขแบบธรรมดา สำหรับความคิดเห็นที่เลือก
    • พิมพ์ Shift-a เป็นการอนุมัติความคิดเห็นที่ได้ทำเครื่องหมายถูก
    • พิมพ์ Shift-s เป็นการให้ความคิดเห็นที่มีเครื่องหมายถูกเข้าไปอยู่ในสแปม
    • พิมพ์ Shift-d เป็นการลบความคิดเห็นที่ถูกเลือกทั้งหมด
    • พิมพ์ Shift-u เป็นการไม่อนุมัติความคิดเห็นที่ถูกเลือกทั้งหมด
    • พิมพ์ Shift-t เป็นการนำความคิดเห็นที่เลือกไปใส่ในถังขยะ
    • พิมพ์ Shift-z เป็นการคืนค่าความคิดเห็นที่อยู่ในถังขยะไปสู่สภาพเดิม
  • แถบเครื่องมือ (Toolbar) เมื่อเราทำเครื่องหมายถูกแล้ว แถบเครื่องมือจะแสดงในหน้าเว็บด้านหน้าของคุณ แถบเครื่องมือนี้จะเป็นปุ่มลัดเข้าไปจัดการหน้าเวบไซต์ได้แก่ หน้าการปรับแต่ง (Customize) หน้าการเขียนบทความ (Posts) หน้าแก้ไขความคิดเห็น (Comments) เป็นต้น
  • ชื่อ (Name) เป็นส่วนที่ใส่ชื่อและนามสกุลของผู้ดูแลระบบในส่วนนี้ สามารถเว้นว่างในการเติมข้อมูลส่วนนี้ได้ ยกเว้นชื่อเล่น (Nickname) ที่จำเป็นต้องใส่
  • ข้อมูลติดต่อ (Contact Info) เป็นส่วนข้อมูลการติดต่อ ให้เพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็น คือ อีเมล์ (Email) และเว็บไซต์ (Website) ของคุณ
  • ข้อมูลของคุณ (About Yourself) เป็นส่วนที่เราจะเขียนข้อมูลชีวประวัติ แนะนำตัวเองพร้อมแนบรูปภาพข้อมูลส่วนตัวได้ผ่านทางกล่องข้อความนี้
  • การจัดการบัญชี (Account Management) เราสามารถจัดการบัญชีของเราเกี่ยวกับรหัสผู้ใช้งานและเซสชั่นได้
    • รหัสผ่านใหม่ (Generate password) สร้างรหัสผ่านผู้ใช้งานโดยให้ระบบสร้างรหัสผู้ใช้งานอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ผู้ไม่ได้รับอนุญาติเข้าไม่ได้
    • ช่วงเวลา (Session) มีไว้เพื่อทำการออกจากระบบการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เราเคยเข้าใช้งานจากภายนอก
สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce

การเพิ่มผู้ใช้งานใหม่ (Add New User)

การเพิ่มผู้ใช้งานใหม่นี้จะเป็นส่วนที่ให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ (Administrator) ทำการเพิ่มผู้ใช้งานใหม่ วิธีการคือ ผู้ดูและเว็บไซต์จะทำการเพิ่มส่วนที่จำเป็นต้องใส่ข้อมูล ได้แก่ ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และอีเมล์ (Email) ส่วนที่เหลือจะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งผู้ใช้งานสามารถมาใส่ข้อมูลเองได้ ได้แก่ ชื่อ (First Name) นามสกุล (Last Name) ชื่อเว็บไซต์ (Website) รหัสผ่าน (Password) และทำการกำหนดบทบาท (Role) ของผู้ใช้งานนั้น เพื่อเป็นการกำหนดสิทธิการใช้งานของผู้ใช้งานนี้ว่า มีสิทธิการใช้งานในส่วนใดบ้าง บทบาทที่ผู้ใช้งานจะถูกกำหนด ได้แก่ สมาชิกทั่วไป (Subscriber) ผู้สนับสนุน (Contributor) ผู้เขียน (Author) ผู้ตรวจทาน (Editor) และผู้บริหารจัดการเว็บไซต์ (Administrator) หลังจากทำการเพิ่มแล้วระบบจะทำการแจ้งอีเมล์ไปยังผู้ใช้งาน (Send User Notification) เพื่อให้ผู้ใช้งานนั้นทำการเปลี่ยนรหัสและใช้งานผ่านอีเมล์ที่ระบุไว้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทและสิทธิที่สามารถใช้งานได้ ที่ บทบาทและสิทธิการใช้งาน

รายชื่อผู้ใช้งาน

สำหรับในส่วนรายชื่อผู้ใช้งานนี้จะเป็นตารางรายชื่อของผู้ใช้งานในเว็บไซต์ของเราทั้งหมด โดยจะมีการระบุถึงชื่อ (Name) อีเมล์ (Email) บทบาทหน้าที่ (Role) และจำนวนบทความ (Posts) ที่ผู้ใช้งานนั้นได้ทำการเขียนไว้ เมื่อเรากดเข้าไปดูในชื่อผู้ใช้งานนั้นๆ ก็จะแสดงหน้าต่างเช่นเดียวกันกับหัวข้อข้อมูลส่วนบุคคล (Your Profile)

เครื่องมือ (Tools)

สำหรับในส่วนเครื่องมือนี้ จะประกอบไปด้วย 5 เมนูหลัก ได้แก่ เครื่องมือใช้งาน (Available Tools) การนำเข้าข้อมูล (Import) การส่งออกข้อมูล (Export) การส่งออกข้อมูลส่วนบุคคล (Export Personal Data) และการลบข้อมูลส่วนบุคคล (Erase Personal Data)

เครื่องมือใช้งาน (Available Tools)

ในส่วนนี้จะเป็นพื้นที่ของการเก็บเครื่องมือใช้งานที่จะใช้ในเว็บไซต์ หากเรากดเข้าไปดูจะพบกับเครื่องมือการแปลงหมวดหมู่และป้ายกำกับ (Categories and Tags Converter) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่แปลงจากหมวดหมู่เป็นป้ายกำกับ หรือ จากป้ายกำกับเป็นหมวดหมู่ ยกตัวอย่างเช่น เราทำการตั้งหมวดหมู่ชื่อ รถยนต์ ขึ้นมาหนึ่งหมวดหมู่ แต่เมื่อทำการใส่บทความไปแล้วพบว่า หมวดรถยนต์ที่ทำการตั้งนั้นมีบทความน้อย และไม่มีหมวดหมู่ที่ใกล้เคียงกัน จึงเปลี่ยนจากหมวดหมู่รถยนต์นั้นให้ไปเป็นป้ายกำกับหรือแท็กแทน

วิธีการใช้งานให้เราทำการกดลิงก์ Categories and Tags Converter ระบบจะทำการเปลี่ยนหน้าไปยังหน้านำเข้า (Import) แสดงในรายการที่ 3 ให้เราทำการกดลิงก์ติดตั้งเดี๋ยวนี้ (Install Now) หากเราต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมให้กดดูรายละเอียด (Details) หลังจากที่ทำการติดตั้งแล้วให้ทำการกดเริ่มใช้งาน (Run Importer)

Category and Tag Converter
Category and Tag Converter

ระบบจะทำการเปลี่ยนหน้ามายังหน้าที่เราสามารถทำการแปลงได้ โดยด้านบนจะมีปุ่ม 2 ปุ่มด้วยกัน คือ Categories to Tags และ Tags to Categories หากเราต้องการเปลี่ยนจากหมวดหมู่เป็นป้ายกำกับก็กดที่ปุ่ม Categories to Tags แต่หากเราต้องการเปลี่ยนจากป้ายกำกับเป็นหมวดหมู่ก็ใช้ Tags to Categories ครับ หลังจากนั้นให้เราทำการเลือกหมวดหมู่ที่เราต้องการจะเปลี่ยนแล้วทำการกดปุ่ม Convert ด้านล่างสุดของหน้านี้ เพื่อทำการเปลี่ยนครับ เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถทำได้แล้ว

ข้อควรระวัง หากเราทำการเปลี่ยนในส่วนของหมวดหมู่ย่อย (Subcategories) ระบบจะทำการเปลี่ยนให้ไปอยู่ในป้ายกำกับที่อยู่ลำดับบนสุดนะครับและหากเราจะเปลี่ยนย้อนคืนมาก็จะไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่ย่อยแล้วครับ

ส่งออก (Export)

ส่วนถัดมาของหัวข้อเครื่องมือ (Tools) จะเป็นส่วนเมนูส่งออก (Export) ที่ทำหน้าที่ในการนำข้อมูลเนื้อหาที่เรามีในเว็บไซต์นำออกมาเพื่อนำไปใช้งานภายนอกหรือนำเนื้อหาไปใช้ในอีกเว็บไซต์หนึ่ง ไฟล์ที่นำออกมาจะเป็นนามสกุลไฟล์ xml เราสามารถนำข้อมูลออกมาได้เป็นแบบข้อมูลทั้งหมด (All content) ในเว็บไซต์นั้น หรือ เราสามารถนำออกเฉพาะบางส่วน เช่น เฉพาะส่วนบทความ (Posts) เฉพาะส่วนหน้าคงที่ (Pages) หรือเฉพาะสื่อ (Media) ก็ได้

วิธีการใช้งานให้เราทำการกดเข้าที่เมนูเครื่องมือ (Tools) แล้วเข้าไปที่เมนูนำออก (Export) ระบบจะทำการเปลี่ยนไปแสดงหน้าส่งออก (Export) ตามรูป ให้เราทำการเลือกส่วนที่เราต้องการนำออกแล้วทำการกดปุ่มดาวน์โหลดไฟล์นำออก (Download Export File) เมื่อทำการกดปุ่มดาวน์โหลดแล้ว ระบบจะทำการดาวน์โหลดไฟล์มายังที่เครื่องของเราก็เป็นอันเสร็จสิ้นครับ เราสามารถนำไฟล์ดังกล่าวไปใช้งานได้ทันที

หากเรากดดูไฟล์ xml ที่เราดาวน์โหลดมาจะเป็นดังนี้ครับ

XML file
XML file

นำเข้า (Import)

WordPress Importer
WordPress Importer

สำหรับในหัวข้อการนำเข้านี้จะมีรายการนำเข้าข้อมูลหลายแบบด้วยกัน ได้แก่ Blogger, Blogroll, LiveJournal, Movable Type and TypePad, RSS, Tumblr และ WordPress แต่เราจะทำการพูดถึงในส่วนของการนำเข้าแบบ WordPress เพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะส่วนที่เหลือจะไม่ค่อยได้ใช้เท่าไร เริ่มแรกให้เราทำการกดลิงก์ติดตั้งเดี๋ยวนี้ (Install Now) แล้วทำการกดลิงก์ Run Importer เพื่อดำเนินการต่อ ระบบจะทำการเปลี่ยนหน้ามายังหน้า Import WordPress เพื่อให้เราทำการเลือกไฟล์ที่จะทำการนำเข้าซึ่งไฟล์นี้จะเป็นไฟล์นามสกุล xml และจะต้องมีขนาดไม่เกิน 2MB ครับ

หมายเหตุ เราสามารถทำการเปลี่ยนขนาดของไฟล์ได้ที่ไฟล์ wp-config.php หรือ .htaccess

เราสามารถทำการนำเข้าของข้อมูลได้ โดยทำการกดปุ่มเลือกไฟล์ (Choose File) แล้วทำการเลือกไฟล์ xml แล้วทำการกดปุ่มอัปโหลดและนำเข้า (Upload file and import) ระบบจะทำการเปลี่ยนหน้าไปยังหน้ามอบหมายผู้เขียน (Assign Authors) เพื่อให้เราระบุชื่อผู้เขียนเป็นชื่อใดแทนที่ชื่อผู้เขียนที่อยู่ในไฟล์ xml นั้น เราสามารถทำการระบุชื่อผู้เขียนใหม่หรือทำการเลือกจากชื่อผู้ใช้งานที่มีอยู่แล้วก็ได้ และสามารถทำการเลือกที่จะดาวน์โหลดไฟล์แนบต่างๆ (Download and import file attachments) เช่น รูป หรือไม่ด้วย เมื่อเราทำการระบุชื่อผู้เขียนเรียบร้อยแล้วให้ทำการกดปุ่ม Submit ระบบก็จะทำการตรวจสอบว่าข้อมูลที่อยู่ในไฟล์ xml นั้นมีอยู่ในเว็บไซต์แล้วหรือไม่ ถ้ามีก็จะทำการแจ้งให้เราทราบว่ามีอยู่แล้ว (Already Exists) แต่ถ้าหากไม่มีข้อมูลนั้นจะถูกบันทึกเข้าไปในเว็บไซต์ครับ

ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data)

Personal Data
Personal Data

สำหรับหัวข้อนี้จะเป็นการจัดการในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ซึ่งเริ่มมีใช้งานใน WordPress เวอร์ชั่น 5 ขึ้นไป โดยเราสามารถทำการนำออกหรือลบข้อมูลส่วนบุคคล (Export or Erase Personal Data) ได้ วิธีการทำงานของเมนูทั้งสองนี้ทำงานในลักษณะเดียวกัน คือ เราจะต้องทำการพิมพ์ชื่อผู้ใช้งานหรืออีเมล์แอดเดรสลงไปยังช่องว่างที่ให้ไว้เพื่อทำการขออนุญาตต่อผู้ใช้งาน (Users) นั้นๆ ว่า เราจะทำการนำออกหรือลบข้อมูลของเขา ผู้ใช้งานที่อนุญาตจะทำการแจ้งอีเมล์กลับมาเพื่อให้เราดำเนินการต่อ ในรายการข้อมูลผู้ใช้งานนี้จะมีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้เป็น ข้อมูลทั้งหมด (All) รอดำเนินการ (Pending) ยืนยัน (Confirmed) ล้มเหลว (Failed) และสำเร็จ (Completed)

สอน WordPress หรือ WooCommerce
สอน WordPress หรือ WooCommerce

สำหรับบทความหัวข้อ สอน WordPress ทั้งหมด 5 ตอนก็จบเอาไว้เพียงเท่านี้นะครับ สำหรับบทความถัดไปจะเป็นเรื่องใหม่กันแล้ว ตอนนี้ยังคิดไม่ออกครับว่าจะเขียนเรื่องอะไร รอติดตามแล้วกันนะครับ

แนะนำคอร์สสอน WordPress

สำหรับคนที่สนใจจะเรียนคอร์ส WordPress นะครับ เรามีสอน WordPress ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สะดวกแบบไหนก็สามารถลงทะเบียนได้เลยครับ

สอน WordPress แบบห้องเรียน

  • คอร์ส WordPress เบื้องต้น ราคา 4,500 บาท
  • สถานที่เรียน Too Fast To Sleep เกษตรศาสตร์
  • ทำการเลือกเวลาที่สะดวกและแจ้งลงทะเบียนได้ที่ Line ID: kuppik ครับ
  • ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ คอร์สเรียน WordPress

สอน WordPress ออนไลน์ 

สามารถดูคอร์สออนไลน์ได้ที่คอร์ส การสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress 5 เริ่มต้นจาก 0 จนมีเว็บไซต์ หากต้องการดูคอร์สอื่นๆ เพิ่มเติมดูได้ที่ คอร์ส WordPress ใน Skilllane นะครับ

คอร์สสอนทำเว็บไซต์
คอร์สสอนทำเว็บไซต์
avatar

นายปิ๊ก


ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Themevilles.com เป็นอาจารย์สอน WordPress และ WooCommerce ในเว็บคอร์สออนไลน์ Skilllane และรับทำเว็บไซต์ ทำการตลาดออนไลน์ เช่น SEO, Facebook และ LINE

สอบถามผ่านทาง Line QR Code qr-code.png